อยุธยา…ราชธานีเก่าแก่ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย มีวัดและสถานที่ทางประวัติศาสตร์นับ 100 แห่ง เป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมาย และด้วยได้รับการยอมรับจากสังคมโลกในด้านเอกลักษณ์ของผังเมืองที่มีแม่น้ำล้อมรอบและด้านสถาปัตยกรรมเฉพาะตัว ในปี 2534 จึงได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งคงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้คนไทยอย่างเรามองข้ามการเดินทางมาที่นี่ไปได้

ทริปนี้เป็นการเดินทางสั้นๆ ใช้เวลา 22 ชั่วโมงตั้งแต่ออกจากบ้านที่ จ.นครราชสีมา เดินทางด้วยรถไฟขบวนรถด่วนชั้น 2 ออกเวลา 23.37 น. ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายจากนครราชสีมาแล้วจะไปถึงอยุธยาตอนเช้ามืดพอดีค่ะ

ตรวจสอบตารางเดินรถไฟทั่วไทยได้ที่ : http://www.railway.co.th/checktime/checktime.asp

ถึงสถานีรถไฟอยุธยาเกือบตี 4 ฝั่งตรงข้ามสถานีจะมีตลาดเล็กๆ เราก็เลยใส่บาตรพระกันก่อนค่ะ เพราะปกติก็ไม่มีโอกาสตื่นเช้ามาใส่บาตรแบบนี้เลย ^^

หลังจากนั้นเดินตรงมาบนถนนที่อยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟมาเรื่อยๆ จะมีท่าเรือเพื่อที่จะข้ามไปฝั่งเมืองเก่าอยุธยาค่ะ ค่าบริการ 5 บาท

จ่ายค่าเรือแล้วก็เดินลงมาตรงโป๊ะ รอเรือกันค่ะ

ข้ามฝั่งมาแล้ว ก็เดินหาร้านเช่ารถมอเตอร์ไซค์ แต่เพราะเช้ามืดขนาดนี้ยังไม่มีร้านไหนเปิด ก็เลยมาเดินเล่นรอเวลากันก่อน เจอรถตุ๊กตุ๊กหัวกบสีสันสดใส สามารถเหมาเที่ยวได้โดยคิดราคาตั้งแต่ 600-800 บาท ใช้เวลา 2-3 ชม. ตามแต่โปรแกรมที่เลือก นั่งได้ประมาณ 4-5 คนค่ะ

แวะเข้ามาเดินเล่นในตลาดเจ้าพรหมค่ะ

แล้วก็มีแม่ค้าแถวนั้นไปเรียกร้านเช่ามอเตอร์ไซค์ให้ค่ะ ใจดีมากๆ คือเดินย้อนไปทางที่เราขึ้นจากท่าเรือจะมีโฮลเทลชื่อ December House มีให้เช่ามอเตอร์ไซค์พร้อมแผนที่ ตรงนี้ก็จะสะดวกเวลามาคืนด้วย เพราะเราต้องนั่งเรือข้ามฝากกลับไปสถานีรถไฟค่ะ

**แผนที่นี้พิมพ์ผิดตรงที่มีหมายเลข 51 สองจุด ซึ่งหมายเลข 51 ด้านล่างของแผนที่จะเป็นวัดใหญ่ไชยมงคลค่ะ

ได้มอเตอร์ไซค์และแผนที่มาล่ะ เราวางแผนเก็บที่เที่ยวรอบนอกเกาะพระนครกันก่อน โดยต้องข้ามแม่น้ำป่าสักที่สะพานปรีดีธำรงค์ค่ะ พระอาทิตย์กำลังขึ้นพอดีเลย ^^

ลงมาจากสะพานก็จะเจอกับวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม เลี้ยวขวาตรงวงเวียนเลยค่ะ จากนั้นเราก็จะเริ่มแวะเที่ยวตามจุดต่างๆ เรียงตามที่เขียนในรีวิวจากนี้ ดูตามแผนที่ประกอบไปด้วยได้เลยค่ะ

วัดขุนเมืองใจ ในอดีตเป็นเพียงวัดร้าง ตั้งอยู่ริมถนนโดยไร้คนสนใจ นอกจากรู้เพียงว่าเป็นวัดร้างแห่งหนึ่งในจำนวนหลายแห่งรอบเกาะเมืองอยุธยาเท่านั้น แต่ว่าวัดขุนเมืองใจก็เป็นวัดสำคัญอีกแห่งที่น่าไปชม เพราะหลักฐานจากซากโบราณสถานที่เหลืออยู่สามารถบอกเรื่องราวได้ว่า วัดนี้มีมาแต่ยุคเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และคงได้รับการบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมา วัดขุนเมืองใจ จึงเป็นวัดที่มีการสร้างซ้อนทับกันหลายยุคสมัย ตั้งแต่ยุคต้นอยุธยาจนถึงยุคปลายอยุธยา จนกระทั่งถูกทิ้งร้างไปหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310

ปัจจุบันสภาพโบราณสถานในวัดถูกทำลายและมีร่องรอยการรื้อถอน การรื้ออิฐไปขาย การลักลอบขุดกรุ แต่ยังคงเห็นลักษณะได้ว่า องค์เจดีย์ประธานมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ตั้งอยู่ตรงกลางมีโบสถ์และวิหารขนาบหน้า-หลัง อันเป็นแบบแผนการสร้างวัดที่พบในช่วงอยุธยาตอนต้น องค์เจดีย์ประธานเหลือเพียงซากฐานสี่เหลี่ยมทรงสูงและต่อเนื่องขึ้นไปรับทรงระฆังที่พังลงมา แสดงถึงรูปแบบที่เก่าแก่ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และผ่านการบูรณะมาหลายครั้งดังที่พบลวดลายสมัยอยุธยาตอนปลายด้วยเช่นกัน แม้หลักฐานทางเอกสารตามพระราชพงศาวดารต่างๆ จะไม่ได้ระบุถึงการสร้าง แต่ก็ได้กล่าวถึงวัดนี้ว่า เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒนสัตยา

วัดใหญ่ไชยมงคล เดิมชื่อ “วัดป่าแก้ว” หรือ “วัดเจ้าไท” ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะพระนคร จุดเด่นของวัดได้แก่เจดีย์องค์ใหญ่ที่เชื่อกันว่า ได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ภายในได้มีการค้นพบชัยมงคลคาถาบรรจุอยู่ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชัยมงคลพระประธานที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด นอกจากนี้แล้วภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2544 อีกด้วย

วัดพนัญเชิงวรวิหาร เป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามหนังสือพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า วัดเจ้าพระนางเชิง และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวไว้ว่า ได้สถาปนาพระพุทธรูปพุทธเจ้าพแนงเชิง เมื่อปี พ.ศ. 1867 ซึ่งก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี

พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อซำปอกง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา หน้าตักกว้าง 20 เมตรเศษ สูง 19 เมตร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย เคยได้รับความเสียหายในสมัยเสียกรุง แต่ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2497 ได้โปรดเกล้าให้บูรณะใหม่หมดทั้งองค์ และพระราชทานนามใหม่ว่า พระพุทธไตรรัตนนายก หรือที่รู้จักกันในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวไทยเชื้อสายจีนว่า หลวงพ่อซำปอกง คำว่า พแนงเชิง มีความหมายว่านั่งขัดสมาธิ ฉะนั้นคำว่าวัดพนัญเชิง (วัดพระแนงเชิง หรือ วัดพระเจ้าพแนงเชิง) จึงหมายถึงวัดแห่งพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยคือหลวงพ่อโต หรือพระพุทธไตรรัตนนายกนั่นเอง หรืออาจสืบเนื่องมาจากตำนานเรื่องพระนางสร้อยดอกหมาก คือเมื่อพระนางสร้อยดอกหมากกลั้นใจตายนั้น พระนางคงนั่งขัดสมาธิ เพราะชาวจีนนิยมนั่งขัดสมาธิมากว่านั่งพับเพียบจึงนำมาใช้เรียกชื่อวัด บางคนก็เรียกว่าวัดพระนางเอาเชิง ตามสาเหตุที่ทำให้พระนางถึงแก่ชีวิต ฉะนั้นถ้าเรียกนามวัดตามความหมายของคำว่า วัดพนัญเชิงก็ย่อมหมายความถึงวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ คือหลวงพ่อโต (อ้างอิงจากประวัติวัดพนัญเชิงข้อมูลของทางวัดในปัจจุบัน)

เที่ยวมาหลายวัดแล้วก็เริ่มมองหาอาหารเช้าทานกัน เลยจากวัดพนัญเชิงมาไม่ไกล ด้านซ้ายมือคือ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเหาะ ซึ่งมาอยุธยาทั้งทีก็ต้องลองมาทานก๋วยเตี๋ยวเรือของที่นี่ ความพิเศษของร้านนี้นอกจากความอร่อยก็คือ ผนังของร้านจะเต็มไปด้วยรูปพระเกจิอาจารย์ติดอยู่ เปิดธรรมะให้ลูกค้าฟัง มีกองผ้าป่า กฐินให้ร่วมทำบุญ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ พระภิกษุและสามเณร ฉันภัตตาหารฟรีค่ะ

แฟนเพจร้าน : https://www.facebook.com/pages/ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเหาะ-อยุธยา/191400180872108

ฝั่งตรงข้ามร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเหาะ จะเป็นพื้นที่โล่งกว้างมองเห็นเรือไม้เก่าจอดเรียงรายอยู่เต็มไปหมดค่ะ ไม่เคยเห็นมาก่อน ก็เลยเดินไปถ่ายรูปเล่นกันสักนิดค่ะ

บ้านฮอลันดา (ศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย – เนเธอร์แลนด์) เป็นศูนย์ข้อมูลการเรียนรู้และโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ จุดประสงค์หลักของบ้านฮอลันดา คือการให้ข้อมูลและความรู้แก่ผู้เข้าชม เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หมู่บ้านฮอลันดา การตั้งถิ่นฐานของชาวเนเธอร์แลนด์ (ชาวดัตซ์) ในกรุงศรีอยุธยา และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศเนเธอร์แลนด์

เวลาเปิด : 9.00 – 17.00 วันพุธ – วันอาทิตย์

ค่าเข้าชม : 50 บาท

เวปไซต์ : http://www.baanhollanda.org

เราไปวันจันทร์บ้านฮอลันดาปิดทำการค่ะ ก็เลยไม่ได้เข้าไปชมด้านใน T_T

มีน้องหมาอยู่ในบ้านออกมาต้อนรับด้วย ^^

หมู่บ้านญี่ปุ่น ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ของเกาะเมือง ฝั่งตรงกันข้ามแม่น้ำเป็นบ้านโปรตุเกส เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์อยุธยา ช่วงเฟื่องฟูทางการค้าอยุธยา – ญี่ปุ่น จนเป็นชุมชนญี่ปุ่นเกิดขึ้นในไทยมีประชากรอยู่ราว 1,000 – 1,500 คน แต่ด้วยปัจจัยที่ผู้นำชุมชนบ้านญี่ปุ่นซึ่งมีกำลังทหารเข้มแข็งและยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในราชสำนักอยุธยาอย่างมาก ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่เป็นพระเจ้าปราสาททองเมื่อปี พ.ศ. 2172 ออกญาเสนาภิมุข ยามาดะ นางามาซะ เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ได้รับคำสั่งให้ไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเพื่อปราบกบฏในหัวเมืองภาคใต้ ต่อมาพระเจ้าปราสาททองจึงส่งกองกำลังทหารทำลายล้างบ้านญี่ปุ่นที่อยุธยาอย่างราบคาบ แต่ชาวญี่ปุ่นรู้ตัวล่วงหน้าจึงพากันลอบอพยพจากอยุธยาไปก่อนแล้ว  ดังนั้นหมู่บ้านญี่ปุ่นแห่งนี้จึงน่าสนใจไม่น้อย และรอบบริเวณยังจัดเป็นสวนแบบญี่ปุ่น เพื่อระลึกถึงชาวญี่ปุ่นในสมัยนั้นด้วย

เวลาเปิด : วันจันทร์ – ศุกร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์เวลา 09.00 – 16.30 น. ,วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 17.00 น.

ค่าเข้าชม : 50 บาท

เข้ามาด้านในแล้วเจ้าหน้าที่จะให้เราเข้ามานั่งดูวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หมูบ้านญี่ปุ่นกันก่อนค่ะ

ประวัติของออกญาเสนาภิมุข ยามาดะ นางามาซะ ชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา

ท้าวทองกีบม้า เป็นชาวอยุธยา ลูกครึ่งเชื้อสายโปรตุเกส – ญี่ปุ่น คนไทยรู้จักท้าวทองกีบม้าในฐานะต้นตำรับขนมตระกูลทอง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองค่ะ

นอกจากส่วนอาคารจัดแสดงแล้ว บริเวณโดยรอบยังมีสวนและศาลาญี่ปุ่น ซึ่งสวนนี้จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 80 พรรษา และเป็นที่ระลึกถึงวาระครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ไทย –  ญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ของหมู่บ้านญี่ปุ่น ในสวยงามเป็นที่ผ่อนคลายสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมค่ะ

จากตรงนี้สามารถมองเห็นหมู่บ้านโปรตุเกส ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำด้วยค่ะ

ยูเดีย เป็นแผนที่กรุงศรีอยุธยาที่เก่าแก่และงดงามที่สุดแผ่นนึง แผนที่ชิ้นนี้วาดขึ้นในช่วงซึ่งสถานที่สำคัญต่างๆ ยังอยู่ครบสมบูรณ์ แสดงสภาพเกาะเมืองล้อมรอบด้วยกำแพงอิฐ เทือกเขา แม่น้ำ ลักษณะอาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม ความวิจิตรโอฬารของพระบรมมหาราชวังตลอดจนถนนหนทางที่ปูด้วยอิฐ และคูคลองที่เชื่อมโยงต่อกันเป็นตาข่าย จนถูกขนานนามว่า “เวนิสแห่งตะวันออก”

มีการจัดแสดงความเป็นมาของการ์ตูนสุดฮิตอย่างเรื่องโดราเอม่อนกับดราก้อนบอลที่เข้ามาโด่งดังในเมืองไทยด้วยค่ะ

ป้อมเพชร เป็นป้อมที่มีขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง มีช่องปืนใหญ่ 8 ช่อง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา พ.ศ. 2123 มีความสำคัญที่สุดในจำนวน 16 ป้อมที่อยู่รอบพระนคร เนื่องจากทำหน้าที่ในการป้องกันข้าศึกที่มาทางน้ำตรงมุมพระนคร ด้านตะวันออกเฉียงใต้ในบริเวณที่แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาและไหลออกสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมและจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญสำหรับการติดต่อกับระหว่างโลกภายนอกกับกรุงศรีอยุธยา

ออกจากป้อมเพชรตรงมาทางถนนอู่ทอง จะเจอร้าน “บ้านข้าวหนม” เป็นคาเฟ่ขนมไทยโบราณที่เราขอแนะนำมากๆ อยู่ตรงข้ามการประปาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาค่ะ

ตามอ่านรีวิวร้านนี้เพิ่มเติมได้ที่ https://www.chilljourney.com/จิบกาแฟคู่ขนมไทยโบราณ-ท/ นะคะ image

image

วัดเจ้าปราบ มีเจดีย์ทรงระฆังบนฐานแปดเหลี่ยมเป็นประธานของวัด ด้านหน้าของเจดีย์ประธานเป็นอุโบสถซึ่งตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน มีเจดีย์รายตั้งอยู่ด้านหน้าและด้านหลังเจดีย์ประธาน ด้านเหนือของเจดีย์ประธานเป็นฐานอาคารจัตุรมุข มีกำแพงวัดล้อมรอบสิ่งก่อสร้างทั้งหมดไว้

พื้นที่บริเวณวัดเจ้าปราบนี้ยังมีวัดอีกเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น วัดเจ้าพราหมณ์ วัดอุโบสถ และวัดสังขแท้ – สังขทา เป็นต้น

วัดไชยวัฒนาราม เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางฝั่งตะวันตกนอกเกาะพระนคร เป็นวัดสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2173 โดยเดิมบริเวณที่ตั้งของวัดแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของพระราชมารดาที่ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่พระเจ้าปราสาททองได้เสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ เมื่อพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ พระองค์จึงได้สร้างวัดไชยวัฒนารามขึ้นเพื่ออุทิศผลบุญนี้ให้กับพระราชมารดาของพระองค์ และอีกประการหนึ่งวัดนี้อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือเขมรด้วย จึงทำให้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมส่วนหนึ่งมาจากปราสาทนครวัดค่ะ

หมู่บ้านโปรตุเกส ชาวโปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2054 โดยอัลฟองโซ เอออัลมูเคอร์ก ผู้สำเร็จราชการของโปรตุเกสประจำเอเชีย ได้ส่งนายดูอาร์เต้ เฟอร์นันเดส เป็นฑูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี กับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันที่ดินแห่งนี้ปรากฏมีโบราณสถานอยู่รวม 3 แห่งคือ ซานเปาโล ซานโดมิงโก และซานเปรโด

โบสถ์นักบุญเปรโต คณะโดมินิกัน เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ภายในอาคารมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยอย่างชัดเจน เช่นพื้นที่ประกอบศาสนกิจ พื้นที่พักอาศัยของนักบวช

นอกจากนี้ยังพบสุสานบริเวณด้านหน้าโบสถ์ ซึ่งมีโครงกระดูกมนุษย์ฝังอยู่กว่า 200 โครง เป็นโครงกระดูกของชาวโปรตุเกสและคนพื้นเมืองที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์

ด้านหลังของหมู่บ้านโปรตุเกสจะติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และฝั่งตรงข้ามเป็นหมูบ้านญี่ปุ่นค่ะ

วัดพุทไธสวรรย์ เป็นพระอารามหลวงตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์เป็นพระอารามหลวงที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงวัดหนึ่ง ปรากฏตามตำนานว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้นในบริเวณที่ซึ่งเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับเมื่อทรงอพยพมาตั้งอยู่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ที่ตรงนี้มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า “ตำบลเวียงเล็กหรือเวียงเหล็ก” ครั้นเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว ถึง พ.ศ. 1896 จึงโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเป็นพระราชอนุสรณ์ ณ ตำบลซึ่งพระองค์เสด็จมาตั้งมั่นอยู่แต่เดิม และพระมหากษัตริย์องค์ต่อๆ มาก็คงจะได้โปรดให้สร้างถาวรวัตถุ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง อนึ่งเมื่อเสียกรุงฯในปี พ.ศ. 2310 วัดพุทไธศวรรย์ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มิได้ถูกพม่าทำลายเหมือนวัดอื่น ๆ ทุกวันนี้จึงยังมีโบราณสถานไว้ชมอีกมากมาย

วัดนักบุญยอแซฟ สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2209 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา หลังจากคณะธรรมทูตรุ่นแรกแห่งปารีส คือ ฯพณฯ ท่านลอมแบรต์ เดอ ลาม็อต กับพระสงฆ์อีก 2 รูปได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2205 ท่านและคณะได้ทำประโยชน์ต่อชาวกรุงศรีอยุธยา และได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อทูลขอสถานที่สร้างวัดและโรงเรียน เพื่อประกอบพิธีการทางศาสนาและให้การศึกษาแก่เด็ก พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งริมน้ำ เพื่อสร้างวัดและโรงเรียนซึ่งเรียกชื่อในสมัยนั้นว่า “ค่ายนักบุญยอแซฟ”

คน ไทยได้อาศัยวัดนี้เป็นป้อมต่อสู้กับพม่าจนกระทั่งถึงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2310 ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าเพียง 10 วัน พม่าได้เผาและปล้นสะดมทรัพย์สินไปจนหมดสิ้น หลังเสียกรุงศรีอยุธยาวัดนี้จึงกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาในปีพ.ศ. 2374 คุณพ่อปัลเลอกัว และคณะได้เดินทางมาเมืองไทย จึงได้มีการบูรณะฟื้นฟูอีกครั้ง

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ร่วมกับกรมศิลปากรจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงม้าไว้บริเวณด้านหน้าวัดภูเขาทอง ในบริเวณใกล้เคียงกันกับพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยที่กรมโยธาธิการฯ ได้สร้างไว้ก่อนหน้า เชื่อกันว่าบริเวณนี้เดิมเป็นทุ่งโล่งที่มีการตั้งทัพข้าศึก และเกิดการทำการยุทธหัตถีในหลายครั้งหลายสมัย

 

วัดภูเขาทอง เป็นวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร เมื่อปี พ.ศ. 1930 มีเจดีย์ใหญ่ที่ชื่อว่า เจดีย์ภูเขาทอง เป็นเจดีย์ที่สูงใหญ่ตั้งอยู่กลางทุ่งนา สามารถเห็นได้แต่ไกล เมื่อปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนอง แห่งเมืองหงสาวดี ได้ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ จึงได้สร้างพระเจดีย์ใหญ่แบบมอญขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดนี้ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ได้ทำการปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ใหม่ เปลี่ยนรูปจากเจดีย์มอญเป็นรูปเจดีย์ย่อไม้สิบสองที่กำลังนิยมอยู่ในขณะนั้น ส่วนฐานนั้นเป็นศิลปะมอญอยู่

เรารู้สึกว่ายอดเจดีย์เอียงนิดๆ เพื่อนที่ไปด้วยก็บอกเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีข้อมูลว่าทำไมถึงเอียง มีใครเห็นเหมือนกันบ้างไหมคะ ^^”

วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรีนอกเกาะพระนครด้านทิศเหนือ ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง ตามตำนานกล่าวว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2047 พระราชทานนามว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ต่อมาเรียกกันภายหลังว่า “วัดหน้าพระเมรุ” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

โดยเหตุที่วัดหน้าพระเมรุตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง ดังนั้นในช่วงศึกสงครามวัดนี้จึงถูกใช้เป็นที่ตั้งค่ายหรือที่บัญชาการรบ เช่นครั้งพระยาละแวกยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2100 และเมื่อครั้งพระเจ้าอลองพระยากษัตริย์พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2303 เป็นต้น

เนื่องจากเป็นวัดสำคัญ วัดหน้าพระเมรุคงจะได้นับการบำรุงรักษาและบูรณปฏิสังขรณ์ต่อๆ กันมาตลอดสมัยอยุธยา ครั้งถึงสมัยรัตนโกสินทร์วัดนี้ทรุดโทรมลงและไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงได้ทำการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่และนิมนต์พระสงฆ์มาอยู่รักษาพระอารามเมื่อ พ.ศ. 2378

วัดพระศรีสรรเพชญ์ เดิมในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ใช้เป็นที่ประทับ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ทางตอนเหนือ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นเขตพุทธาวาส เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่างๆ ของบ้านเมือง จึงเป็นวัดในเขตพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แตกต่างกับวัดมหาธาตุสุโขทัยที่มีพระสงฆ์จำพรรษา ทั้งวัดมหาธาตุ สุโขทัย,วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่างก็ถูกสถาปนาขึ้นในมูลเหตุการสร้างวัดเดียวกันนั่นคือ “สร้างเพื่อเป็นวัดประจำพระราชวัง”

วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา ทางด้านทิศตะวันออกของพระราชวังหลวงในพื้นที่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวง ในสมัยอยุธยาที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะแผนผังของวัดสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นวัดกลางเมืองในสมัยอยุธยา

ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า องค์พระปรางค์ประธานได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1917 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แล้วเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม องค์พระปรางค์ได้พังทลายลงมา ต่อมาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์ใหม่ทั้งหมดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในปี พ.ศ. 2176

ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 วัดมหาธาตุแห่งนี้ถูกไฟไหม้เสียหายและถูกทิ้งร้าง จนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์พระปรางค์ประธานได้พังทลายลงมาอีกครั้งจนเหลือเพียงส่วนฐานอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ที่วัดมหาธาตุ ยังมีจุด Unseen ที่ดังไปทั่วโลกก็คือ เศียรพระในต้นไม้ เป็นเศียรพระพุทธรูปหินทราย ที่มีรากต้นโพธิ์ปกคลุมอยู่ โดยเหลือแค่ส่วนเศียร สำหรับองค์พระนั้นหายไป เป็นเศียรพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา วางอยู่ใต้รากโพธิ์ข้างวิหารราย ซึ่งเข้าใจว่าเศียรพระพุทธรูปนี้หล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุง จนรากไม้ขึ้นปกคลุมอย่างที่เห็นในปัจจุบันค่ะ

จบหนึ่งวันในอยุธยาด้วยความประทับใจ จริงๆแล้ว เฉพาะในเกาะพระนครกับรอบๆ เกาะ ใช้เวลาวันเดียวคงเที่ยวไม่หมด ยังมีพระราชวัง พิพิธภัณฑ์น่าสนใจ วัดหรือโบราณสถานที่อยู่ในเขตมรดกโลก ตลาดน้ำ ร้านอาหารอร่อยๆ อีกมากมาย ไว้มีโอกาสจะกลับมาเก็บตกอีกสักรอบค่ะ 🙂

ค่าใช้จ่าย…

รถไฟขาไป โคราช-อยุธยา 89 บาท
ค่าเรือไป-กลับ 10 บาท
ใส่บาตร 20 บาท
เช่ามอเตอร์ไซค์+น้ำมัน 115 บาทต่อคน (ไป 2 คน)
ค่าเข้าชมสถานที่ 80 บาท
อาหาร+ขนม+กาแฟ 200 บาท
รถไฟขากลับ ฟรีจ้า 😀

ติดตามข้อมูล รีวิวการเดินทาง พูดคุยกับผู้เขียนได้ที่…

Fanpagehttps://www.facebook.com/Mytravelholicdiary/

Instagramhttps://www.instagram.com/my_travelholic_diary/

ติดตามการเดินทางของชิวตามไปที่ ::

Instragram :@ChillJourneyTH
Facebook Page : Chill Journey :: เที่ยวอย่างชิว
Youtube : ChillJourney

Blog แนะนำเคล็ดลับการจองที่พัก อ่านเถอะจะได้ไม่พลาดอีก!