ความเดิมตอนที่แล้ว…ใครยังไม่ได้อ่านไปอ่านก่อน >> รีวิว-เดลี-ชัยปุระ-อักรา
. ทริปแบกเป้ไปอินเดียเป็นทริป 9 วันครับ โดยเป็นเส้นทาง Delhi – Jaipur – Agra – Varanasi ผมได้เล่าถึงเมืองอัครา เมืองที่มีทัชมาฮาลนั่นแหล่ะครับ รอบนี้จะไปพาราณสีกันอีก 3 วัน โดยนั่งรถไฟแบบนอนยาวจากเมืองอัครา สู่เมืองพาราณสี กำหนดระยะเวลา 14 ชั่วโมง
. เล่าแผนให้ฟังก่อนครับ หลังจากจบทริป 3 วัน ที่เมืองพาราณสี ผมจะนั่งเครื่องบินสายการบิน low cost ของอินเดียที่ชื่อว่า Indigo นั่งจากเมืองพาราณสี บินเวลา 20:15 กลับมานอนค้างที่สนามบิน นิวเดลี เพื่อรอต่อไฟล์ท Jet Airways กลับไทยตอน 8 โมงเช้า (มันเป็น 2 สายการบินที่ไม่โคกันและแยก booking ดังนั้นสายการบินจะไม่รับผิดชอบนะครับ ตกเครื่องคือซื้อใหม่ลูกเดียว)
พอเล็งเห็นอะไรไหมครับ?
. ถ้าไฟล์ทบินจากเมืองพาราณสี ยกเลิก คือบรรลัย !! แปลว่าผมต้องจองตั๋วเครื่องบินกลับเมืองไทยใหม่แน่ๆ ดังนั้นผมจึงเลือกทำประกันภัยการเดินทางที่ คุ้มครองไฟล์ทดีเลย์ เพื่อช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด ระหว่างกำลังลังเลว่าจะเลือกแบรนด์ไหนดีในการทำประกันการเดินทางครั้งนี้ จากการหาข้อมูลทั่วไปและคำแนะนำจากคนรู้จัก ผมก็เลยเลือกซื้อกับแบรนด์ เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย เป็นครั้งแรก (เป็นการลองใช้บริการ แต่ไม่ได้กะว่าจะได้เคลมจริงๆนะ… เชื่อเถอะว่ารีวิวนี้เรียลมาก ไปนอนสนามบินมา 36 ชั่วโมงคงไม่ลงทุนขนาดนั้นแน่ๆ T-T)
. รถไฟที่เราจองเป็นรถไฟชั้น AC Class 2 ครับ สภาพก็คล้ายๆ รถไฟตู้นอนบ้านเราหล่ะ ประมาณในรูป คือ นอนได้ไม่อึดอัด แต่ก็ไม่สบายเท่าไหร่ ความสะอาดก็พอรับได้ตามสไตล์อินเดีย
. อ้อ AC class 2 นี่ไม่มีอาหารและน้ำดื่มใดๆให้นะ อย่าลืมซื้อน้ำและขนมติดตัวไว้ด้วย (แต่ตอนที่นั่งจากเมืองชัยปุระไปเมืองอัครา เป็น AC Chair มีทั้งน้ำ อาหารและขนมให้ด้วย งงแท้ๆ)
. ตามกำหนดการ คือ 14 ชั่วโมง ใช่ไหมครับ แต่รถไฟดีเลย์เป็นเรื่องปกติของอินเดีย ก็นั่งยาวไปครับ 18 ชั่วโมง !! หลังจากตื่นมาแล้ว ก็บังเอิญเจอ Backpacker ชาวลอนดอน ชื่อคริส ครับ ตัวผมเอง เพื่อน และหนุ่มลอนดอนคนนั้น ก็เลยนั่งเม้าท์มอยกันยาวๆ มีคุณลุงแขกคอยเสริมบ้างประปราย เม้าท์กันจนปากเปียกปากแฉะก็ยังไม่ถึงสักที 555
ตัดฉากไปว่าถึงสถานีรถไฟพาราณสีเลยแล้วกัน
. พอออกมาจากสถานีก็จะเต็มไปด้วยกองทัพรถตุ๊กตุ๊ก ที่แย่งลูกค้ากันอย่างกับแร้งลง เท่าที่อ่านมา ราคานั่งไปถนนใกล้ๆริมคงคา 100 รูปีต่อคัน (ย้ำก่อนขึ้นด้วยนะต่อคัน) ต้องต่อรองราคากันดู ผมต่อได้ประมาณนี้ คันที่สองก็ได้ราคานี้ (เขาแย่งลูกค้ากันมาก strong เข้าไว้ครับว่าเราจะไปราคานี้ 555)
. ซึ่งเขาไม่ได้เข้ามาส่งเราถึงที่พักหรอกนะครับ เขาจะส่งเราแค่ถึงจุดหนึ่งเท่านั้น แล้วจะบอกให้เราลง เพราะเขาบอกว่ารถเขาเข้าไปไม่ได้แล้ว (ซึ่งผมเปิด roaming ais ไปดูใน map บอกว่าจริงๆสามารถเข้าไปได้อีก) แต่ผมดูแล้วก็ไม่ไกลนัก ลงก็ลงขี้เกียจเถียง พอลงเดินตรงๆต่อไป มันมีถนนจริงๆครับ ไปได้จริงแต่รถมันติดมากๆๆ ตุ๊กตุ๊กก็เลยมักจะส่งแค่ตรงที่เราลงนั่นแหล่ะ
. พอถึงจุดนี้ก็เป็นอาการแร้งลงอีกครั้ง พอพี่แขกเห็นเราแบกเป้ใบโตเขาก็รู้ทันทีว่าเรา “กำลังหาที่พัก” บอกว่ามีที่พักแล้วก็ยังไม่เชื่อ จะหาค่าคอมกันตลอดเวลา พี่แขกเดินตามกันโหดมากครับ คนแรกเดินตามมาเป็นสิบนาทีแล้วก็ท้อไป พอเราเดินใกล้ถึงท่าน้ำก็เจอแขกคนใหม่ ซึ่งผมก็ไม่คุยด้วยก็ยังเดินตาม เราเดินไปจนถึงที่พัก (ดูจาก google map และป้าย) ด้วยตัวเอง
. เราจองที่พักไว้ครับชื่อ Shri Guest House เป็นเกสท์เฮ้าส์ทำเลดีอยู่ใกล้กับ Dashaswamedh Ghat แต่พอมาถึงก็เงิบ เกสท์เฮ้าส์บอกว่าให้พักไม่ได้ต้องไปอีกที่หนึ่ง เอ้า… เกสท์เฮ้าส์นี้ติดอันดับมานานเขาคงไม่กล้าหลอก ไปก็ไป เราก็ไปอีกที่หนึ่งครับ เดินไปทางซ้ายของที่เดิมประมาณ 400 เมตร ก็ยังใกล้ท่าน้ำอยู่ ก็โอเค ชื่อว่า Puja Guest House (โรงแรมนี้จะถูกกว่าเพราะใกล้กับ Manikarnika Ghat ที่เขาเผาศพ)
. อันนี้วิวจากห้องพักที่ Puja ครับ มองไปทางซ้ายที่เห็นเป็นควันๆขึ้นมานั่นคือ Manikarnika Ghat เป็น Ghat (ท่าน้ำ) ที่เค้าเผาศพกันตลอด 24 ชั่วโมงเลย ซึ่ง..จริงๆแล้วมีหลายท่าน้ำครับ ถ้าเลือกจะพักริมน้ำก็ต้องเจอกลิ่นไหม้ ที่เขาเผาศพกันไม่มากก็น้อย (เป็นกลิ่นถ่านนะไม่ใช่กลิ่นศพ)
ก่อนจะไปเดินเที่ยวเมืองพาราณสี อ่านประวัติกันนิดหนึ่ง
. พาราณสี (บาลี: Bārāṇasī พาราณสี; สันสกฤต: वाराणसी) พาราณสีมีแม่น้ำคงคาไหลผ่าน เป็นเมืองที่ศักดิสิทธิ์ที่สุดหนึ่งในเจ็ดเมืองศักดิสิทธิ์ (สัปดาปุริ, Sapta Puri) ในความเชื่อของศาสนาฮินดูและศาสนาเชน พาราณสีมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 4,000 ปี เป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศอินเดียและยังจัดเป็นเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลกด้วย
. ตรงสีของฟ้านั่นแหละครับ ทำให้ผมอยากมาเมืองนี้ เพราะเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุด และทุกคนที่ได้มา ต่างประทับใจ รวมทั้งฝรั่งหลายๆคนที่ผมคุยด้วย ก็ชอบเมืองนี้ที่สุดกันทั้งนั้น มันให้บรรยากาศอินเดี้ยอินเดียได้แท้จริงสุดๆ ถ้าอยากเข้าถึงอินเดียผมว่าต้องมาสักครั้ง
. กว่าจะอาบน้ำอาบท่าเดินจากที่พักก็สักบ่าย 3 แล้วหล่ะครับ ผมก็เลยเดินเล่นริมน้ำ ย้อนกลับไปทางขวาเรื่อยๆ ก็เริ่มได้เห็นวิถีชีวิตของชาวริมแม่น้ำคงคา ปะปนกับนักท่องเที่ยว
เด็กๆมาเล่นกีฬาที่ชื่อว่า “คริกเกต” กันคงคล้ายๆกับเบสบอลละมั้ง ดูน่าสนุกดี มีความสุขเท่าที่มี 🙂
อีกหนึ่งสิ่งที่พบเจอได้บ่อยๆ คือ จะมีคนมาอาบน้ำที่แม่น้ำคงคากัน ซึ่งคงมีท่าทางหรือพิธีบูชาของเขานะครับ ที่อินเดียนี่ความเชื่อเหนือสิ่งอื่นใดสุดๆ แม้แม่น้ำคงคาในความคิดของเราจะสกปรกแค่ไหน เขาก็ยังคิดว่าแม่น้ำคงคาคือ แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ครับ
เดินมาเรื่อยๆแล้วเลี้ยวออกมาที่ถนน ถนนที่เดินเข้าไปหาที่พักนั่นแหล่ะครับ ถนนตรงนี้เป็นโซนที่ห้ามรถวิ่ง มีไว้สำหรับคนเดินเท่านั้น เราจะมาหาข้าวทานกัน ยังไม่ได้ทานอะไรเลย นอกจากแครกเกอร์ในรถไฟ เจอร้านอินเดียร้านนึง ติด TripAdvisor ด้วยก็เลยกิน พอแหลกได้ครับ 555+
. เดินผ่านร้านชา ( ชาที่นี่อ่านว่า ชัย ) ตอนนี้เริ่มแข็งแกร่งไม่ค่อยกลัวท้องเสียแล้ว ชาต้มร้อนๆคงปลอดภัยจัดมาสักถ้วยครับ วิธีการทำ เค้าง่ายๆเลย คือเอานมสดๆเอาไปต้มกับใบชา แล้วก็ใส่น้ำตาล ต้มๆจนร้อนได้ที่แล้วเอามากรอง จบ!! ง่ายมาก
นี่ครับ ถ้วยเล็กๆแบบนี้ถ้วยละ 10 รูปี หรือ 5.5 บาทเอง ถูกมากแล้วก็อร่อยด้วยนะ ซึ่งถ้วยกระเบื้องแบบนี้ แต่ก่อนสมัยที่เขาถือวรรณะมากๆ พวกที่เป็นชั้นสูงเขากินเสร็จแล้วจะปาแก้วให้แตกละเอียดเลยครับ เขากลัวพวกวรรณะต่ำกว่า จะมากินถ้วยเดียวกะเขา
… จากที่ผมแอบดูก็มีบ้างครับ คนที่ทำให้แตก บางคนก็ไม่ทำ
… ส่วนผมตอนแรกก็อยากทำให้แตกตามเขาดู แต่ก็ออกจะสกปรกเลอะเทอะ ผมเลยวางทิ้งไว้เฉยๆน่าจะดีกว่า (ก็รักโลกนะ 555)
เดินต่อ หันหน้าเข้าแม่น้ำคงคาที่พักเราอยู่ทางซ้าย รอบนี้เลยเดินไปทางขวาเมื่อหันหน้าเข้าแม่น้ำคงคามั่ง ผ่านตลาดย่อมๆ แล้วเดินลงไปที่ริมน้ำครับ ฟ้าเริ่มเปลี่ยนสีแล้ว ไปอินเดียเดือนธันวาคม เป็นหน้าหนาวพระอาทิตย์ 5 โมงครึ่งก็ตกแล้วครับ มืดไวมากๆ
. ภารกิจที่คนมาเมืองพาราณสีต้องทำก็คือ “นั่งเรือ” ชมพระอาทิตย์ขึ้น/พระอาทิตย์ตก เหมือนไปเวนิสก็ต้องไปนั่งกอนโดล่ายังไงอย่างนั้น (แต่ตอนไปเวนิสไม่ได้นั่งนะเพราะโคตรแพง 555) ค่าล่องเรืออยู่ที่ประมาณ 200 รูปีต่อชั่วโมงครับ เราเดินๆไปเจอแขกนายหน้ามาถาม บอกว่า 300 เราก็ต่อ 200 เขาบอกว่า เอางี้คิด 200 แต่ถ้าคุณชอบให้เพิ่มอีก 100 นะ เออแบบนี้ค่อยเข้าหูหน่อย
. จริงๆผมกะว่าจะให้เค้าเพิ่มอยู่แล้วหล่ะครับ เพราะว่ามันถูกมากๆๆลองคิดดูนะว่า ตอนไปเวนิสค่าเรือ กอนโดล่า 80 ยูโร = 3,200 บาท ต่อครึ่งชั่วโมง นี่พายชั่วโมงหนึ่ง 100 บาท ต่างกัน 64 เท่า !! ดังนั้นผมจึงไม่ได้ต่ออะไรมากครับ เอาราคานี้ก็โอเค (แต่แนะนำว่าให้ต่อหนักๆ กับคนที่มาคุยด้วย แล้วแอบไปให้ทิปกับคนพายเรือจะดีกว่า พวกที่มาคุยกับเราเป็นนายหน้าทั้งนั้นครับ สงสารคนพายเรือจริงๆ ไม่รู้โดนหักเท่าไหร่)
. เอาหล่ะตกลงกันได้แล้วก็ขึ้นเรือนั่งแบบ private เลย ผมกับเพื่อนสองคนและคนพายเรือ เขาก็พายเรือในแม่น้ำคงคาไปเรื่อยครับ วนไปทางขวาของแม่น้ำคงคาที่เรายังเดินไปไม่ถึง พอได้นั่งเรือแบบนี้แล้ว ก็พบว่า จริงๆชุมชนริมแม่น้ำคงคายาวมาก ไกลสุดลูกหูลูกตาเลยครับ คนพายเรือบอกว่ามี Ghat (ท่าเรือ) ริมแม่น้ำคงคานี่มากกว่า 1,000 แห่ง โหหหหห
พายไปสักพักเจอคนหน้าคุ้นๆ อีตาคริส หนุ่มลอนดอนบนรถไฟนั่นเอง เค้ามากับทัวร์ที่โฮสเทล เราก็ตะโกนข้ามเรือโบกไม้โบกมือกันไป
*อันนี้เป็นทริคเพิ่มเติม: ในกรณีที่เดินทางคนเดียวหลายๆโฮสเทลมักจะมีบริการ local tour ครับ จะประหยัดและปลอดภัยกว่าไปลุยเอง
กระทงนี่ซื้อมาอันละ 10 รูปีก่อนขึ้นเรือครับ … อ่านมาว่าให้ระวังพวกที่พายเรือมาขาย ห้ามรับมาก่อนเด็ดขาด จะโดนโขกราคาเป็น 100 รูปีเชียว ให้ต่อรองให้ดี ไม่ก็ซื้อกับเด็กก่อนขึ้นเรือแบบผมเลยครับ
บรรยากาศริมแม่น้ำคงคาช่วงเย็น ดูกันไปเรื่อยๆนะ
พายได้เกือบๆชั่วโมง พิธีคงคาอารตีก็กำลังจะเริ่มครับ ผมเลยบอกคนพาย ว่าพอแล้วหล่ะ จอดเลยครับแล้วให้ไป 300 รูปีตามที่ตกลงกัน
พิธีบูชาไฟ หรือ พิธีอารตี
. พิธีบูชาไฟ ตามคัมภีร์ฤคเวท ได้กล่าวถึงการบูชาไฟ ซึ่งเป็นพิธีกรรม ขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า เพื่อมอบความสุขและความโชคดีให้แก่ผู้ที่บูชา
. เครื่องพลีหรือเครื่องสังเวยที่ใช้ในการบูชาไฟ ประกอบด้วย น้ำนม เมล็ดข้าว เนยแข็ง เหล้า (กลั่นจากต้นไม้) ดอกไม้ และหญ้าคา เชื่อว่าเป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องกับพระเป็นเจ้า หญ้าคา เป็นอาสนะที่ประทับของพระศิวะบนเขาไกรลาส เมื่อเริ่มทำพิธีกรรมพราหมณ์ จะนำอาหารเหล่านี้ใส่ลงไปในกองไฟ พร้อมสวดสรรเสริญพระเป็นเจ้า ชาวฮินดูลัทธิศิวนิกายที่นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด จะนำหญ้าคามาเพื่อเป็นเครื่องบูชา ถือเป็นเครื่องสังเวยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง
source : http://www.oceansmile.com/India/Paranasi.htm
. สรุปว่าเป็นพิธีบูชาไฟ ซึ่งจัดขึ้นทุกวันหลังพระอาทิตย์ตกครับ มีประมาณ 1 ชั่วโมง ภาพบรรยากาศดูขลังมากๆ ถือว่าเป็นอะไรที่ห้ามพลาดเมื่อมาเยือนเมืองพาราณสีเลยครับ
วันที่ 2 ในพาราณสี
. วันนี้ตั้งใจว่าจะไปเดินเล่นชิวๆ ดูวิถีชีวิตริมแม่น้ำคงคาตอนเช้า เดินไปได้สักนิดก็เจอนายหน้ามาถามเรื่องนั่งเรืออีกแล้ว เพื่อนก็เกรียนใส่บอกไปว่า 100 รูปีต่อชั่วโมง จะได้เลิกตื้อสักที เราก็เดินต่อแบบไม่สนใจจนผ่านไปเกือบ 10 นาที เค้าก็บอกว่า “โอเค 100” เอ้า!! ถ้าจะถูกขนาดนี้นั่งก็ได้วะ แต่พี่แขกเล่นแง่อีก บอกว่าคนละ 100 รูปีต่อคนนะ สรุปว่าได้มา 200 รูปีต่อชั่วโมงนั่นแหละ = =” เออนั่งก็นั่ง ถูกจะตายนั่งๆไปเถอะหารกันคนละ 55 บาทไทยต่อชั่วโมง
. เช้านี้นั่งทางซ้ายของแม่น้ำคงคาบ้าง ก็คือย้อนหลังไปผ่านทางที่พักเราหน่ะแหละ (เมื่อวานนั่งไปทางขวาแล้ววันนี้นั่งซ้าย ไม่งงนะ)
บรรยากาศยาวเช้าก็งามดี หมอกลงเช่นเคยมองไม่เห็นพระอาทิตย์ขึ้นเหมือนเดิม T-T
หลังจากพายไปครึ่งชั่วโมง ผมก็เอาเงินไปให้คนพายอีก 100 รูปีเป็นทิป คราวนี้ยิ้มร่าอารมณ์ดีเลยจ้า เปิดเพลงแขกจากมือถือให้ฟังด้วยนะ
เอ้าถ่ายรูปเป็นที่ระทึกหน่อย ^^
. เออจริงๆแล้วแม่น้ำคงคานี่มี 2 ฝั่งนะ บางคนก็เชื่อว่าฝั่งโน้นเป็นฝรั่งนรก เลยไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ ซึ่งถ้าตอนดูจากในหนังพาไป ก็ไม่น่าจะใช่ คนเรือเขาถามว่าจะลงไหมด้วยแหละ แต่เราดูแล้วไม่ค่อยมีอะไรก็เลยไม่ได้ลง ให้วนกลับมาส่งตรงกลางๆเหมือนเดิมดีกว่า พอลงแล้วก็มาทานกาแฟกันแถวนี้
. ชาแก้วละ 10 รูปี แต่กาแฟแก้วละ 20 รูปี ซึ่งกาแฟก็ไม่ได้พิเศษอะไรเล้ย เป็นการเอากาแฟ 3 in 1 มาผสมกับนมต้มนั่นแหละ แต่ก็อร่อยดีนะ
เอาหล่ะ หลังจากนั้นเราก็กลับโรงแรมกินข้าวราคาแพงที่โรงแรม แล้วถามพนักงานโรงแรม เรื่องจะไป “สารนาถ” ว่ามีที่ไหนน่าไปบ้าง ราคาเท่าไหร่
เขาเสนอว่า “ฉันรู้จักแท็กซี่ อยู่ไม่ไกลจากนี่มารับได้เลย เดี๋ยวถามให้” … สรุปได้มาราคา 750 รูปี รวมทุกอย่าง ซึ่งจริงๆอ่านมาว่าสัก 500-600 รูปี เองนะ แต่ไม่อยากปวดหัว เอารถจากโรงแรมแล้วกันรวมหมดแล้วด้วย น่าจะประทับใจกว่า
พอตกลงกันได้แล้ว คนของโรงแรมก็เดินไปส่ง พอเจอคนขับรถแล้วก็ทิ้งกันดื้อๆเลยฮะ ให้เดินตามคนขับรถไป เดินไปนิดหน่อยก็ถึงตุ๊กตุ๊กละ ก่อนขึ้นก็คุยราคากันอีกทีว่า 750 รูปี นี่รวมทุกอย่างแล้วนะ ไม่มีบวกเพิ่ม มาเมืองแขกต้อง strong เข้าไว้คุยอะไรให้แน่นอน
เมืองสารนาถ อยุ่ไม่ไกลจากเมืองพาราณสีมากนักครับประมาณ 10-15 กิโลเมตรเท่านั้นเอง
โดยสถานที่หลักที่ควรมาก็คือ 3 อันที่ปักไว้นะครับ
มาถึงที่แรกที่คนขับพามาหย่อนคือ “วัดธิเบต” วัดสไตล์ธิเบต ไม่ใหญ่โตนักเดินสัก 10 นาทีก็หมดแล้วครับแต่ก็ได้ feeling อยู่
. หลังจากนั้นก็พาไป วัดไทย วัดจีน วัดญี่ปุ่น แต่ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจนะครับ ถ้าเค้าแวะให้ก็ลง ถ้าไม่แวะก็ไม่ต้องเสียใจไป ไม่มีอะไรจริงๆ วัดเล็กๆ ทั้งนั้น มาถึงอันนี้ใกล้ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
. ดูจาก google map ชื่อว่า “Deer Park” จริงๆผมก็ไม่รู้หรอกนะครับว่าคือที่ไหนอย่างไร แต่มีคนมานำสวดกันด้วยแหละ ตรงทางขวาที่เป็นรูปปั้นพระพุทธเจ้าโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5
. ตัดมาไฮไลท์ของที่เมืองนี้ดีกว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ครับ ก่อนเข้าก็ซื้อตั๋วก่อนเลย อย่าลืมแสดงพาสปอร์ตไทย เบ่งได้อีกแล้วครับ ตั๋ว 10 รูปี ราคาแพงกว่าคนอินเดียแค่ 5 รูปี เท่านั้นเอง ถูกอย่างกะเข้าฟรี
บรรยากาศภายในป่าก็จะเป็นโล่งๆ มีซากปรักหักพัง มากมายคล้ายๆเวลาเราไปอยุธยาอะไรแบบนั้นเลยครับ
. เสานี้คือ เสาอโศก (อังกฤษ: Pillars of Ashoka ) เป็นเสาหินโบราณที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างเสาหินทราย (ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “เสาอโศก”) ขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อระบุสถานที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
เห็นไกลๆนั่นแหละครับ สถูป ธรรมเมกขสถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด สันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ประกาศพระสัทธรรมเป็นครั้งแรกที่นี่ ที่เราเรียนกันตั้งแต่เด็กนั้นแหละครับท่านผู้ชม
ตรงนี้ผมเห็นคนนั่งสมาธิกันก็เลยลองมั่งครับ นั่งนิ่งๆสักสิบนาที
สถานที่สุดท้ายก่อนกลับ วัดไทยสารนาถ ชื่อก็บอกอยู่แล้วเนอะว่าวัดไทย ดังนั้นเราจะเห็นคนไทยเต็มไปหมด
เขาไม่ได้อาศัยอยู่นี่หรอกครับ แต่เป็นทัวร์ไทยฮ่าๆๆๆ เข้าใจว่าเป็นโปรแกรมแบบ the must เลยว่าต้องมา ซึ่งจริงๆ จะบอกว่าไม่เชิงวัดไทยซะทีเดียวหรอกนะครับ ออกแนวผสมๆอินเดียด้วย เดากับเพื่อนเล่นๆ คิดว่าเป็นเพราะการออกแบบเป็นแบบไทยก็จริง แต่แรงงานคนสร้างคงเป็นคนอินเดีย ดังนั้นอะไรๆก็คงออกมาแบบผสมๆนิดหน่อย
ก่อนกลับเจอสถูปอะไรไม่รู้ครับแต่ใหญ่โต เลยขอให้คนขับแวะไปถ่ายรูปห้านาที คนขับเค้าก็โอเค
นั่งกลับสักครึ่งชั่วโมงก็มาถึงเลย ให้คนขับแบบปัดเศษไป 800 รูปี (ทิปอีก 50 รูปี) เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจเล็กๆน้อยๆที่ไม่ตุกติกอะไรเลย พวกเราเดินจากถนนที่เขาส่ง เดินมาเรื่อยๆจนใกล้ๆกับ Golden temple จะมีร้านชื่อว่า “Ganga Fuji Restaurant” ร้านอาหารชื่อดัง
ซึ่งอ่านมาจากพันทิปแหละมั้งครับ ว่าอร่อยดี แต่เท่าที่ลองไปชิมแล้ว รสชาติก็งั้นๆหน่ะ แถมแพงมากๆๆๆ จานละ 150 บาทได้ ซึ่งอาหารท้องถิ่นอยู่ที่ประมาณ 20-30 บาท ถ้าเป็นร้านอาหารก็สัก 50-80 บาท เอง สรุปว่าไม่ค่อยแนะนำครับ
อิ่มแล้วก็ไม่มีอะไรครับวันนี้ เดินเล่นเดินชิลไปเรื่อยๆ กะว่าจะไปหาสำนักโยคะชื่อดังด้วยแหละ เดินไปชมวัว ชมหมา ชมคนไป ที่อินเดียทุกอย่างอยู่รวมกันได้หมดครับ 555
เดินมาเจอสาวชาวฝรั่งเศส เธอออกมาจากบ้าน 3 ปี แล้วค่อยๆ overland มาเรื่อยๆจนมาถึงอินเดีย อยู่อินเดียมา 6 เดือนแล้วครับเจ๋งมากๆๆ
ผมเดินไปไกล 2-3 กิโล เห็นจะได้ครับ พอดูท่าว่าแสงเริ่มจะมืดแล้ว เลยเดินกลับดีกว่า มาอินเดียต้องเน้นปลอดภัยเข้าไว้ ดึกๆเปลี่ยวอย่าไปเดินครับ พอเดินกลับมา ก็เจอคนต่อเรือพอดี แบบบ้านๆริมน้ำกันเลย
และปิดท้ายวันนี้ด้วยการมาชม พิธีคงคาอารตี อีกครั้งครับ ทำพิธีแบบเมื่อวานเลย แต่วันนี้ได้มุมที่ดีขึ้น เป็นมุมสูงจากด้านหลัง ฮ่าๆๆ
วันที่ 3 ในพาราณสี
วันนี้เป็นวันชิลส่งท้าย ตื่นสายครับ ตื่นมาก็กินข้าวบนโรงแรมนั้นแหละ แพนเค้กกับนูเทลล่า ตกแผ่นละ 100 บาท อย่างแพงเลย แต่อยากกิน ฮ่าๆๆๆ อิ่มอาบน้ำเสร็จก็ไปหาที่เล่นโยคะครับ (มุ่งมั่นป่ะ) จากที่โรงแรมเราเดินทะลุมานิดเดียวก็ถึงแล้ว อยู่ใกล้กับ Golden temple เลยสังเกตง่ายๆครับ ซึ่งที่นี่เป็นแบบบ้านๆมาก ป้ายประมาณนี้ครับ
หมายเหตุ: ตอนแรกเล็งไว้ ที่ฮิตใน TripAdvisor ชื่อว่า Siddharth Yoga Center แต่ไปถามแล้วชั่วโมงละ 400 รูปี โอ้คุณพระ! สองชั่วโมง 800 รูปี แพงเวอร์มาก และเป็นคลาสแบบหลายคนด้วย เลยถอยมาที่นี่ครับ บ้านๆ ชม. ละ 200 รูปี ดูไม่ค่อยมีคน น่าจะ private หน่อย อยากเรียนรู้จริงๆ
เมื่อวาน มาถามราคาแล้ว ราคาโอเค วันนี้ก็เลยมาจริง เจอฝรั่ง 2 คน นึกว่าจะมีเพื่อนร่วมคลาสแต่เปล่า…เขาเล่นเสร็จแล้ว กลายเป็นผมเล่นคนเดียวเลยครับ จริงๆแล้วชิล มีพื้นฐานมาบ้างจากการเล่นโยคะในคลาสฟิตเนส ซึ่งเขาจะไม่ได้สอนหายใจอะไร เลยอยากมาเรียนแบบ original หน่อย มาเมืองเก่าแก่สุดในโลกทั้งทีนะ ต้องเรียนหน่อย
วิธีการสอนเขาจะเป็นแบบ flow ครับ เช่น หายใจเข้า 1 ท่า หายใจออก 1 ท่า โดยท่าจะเบสิคมากๆ ลืมบอกครับ..ขนาดว่าเราพอเป็นอยู่แล้วบ้าง แต่แค่ท่าเบสิคก็โคตรเหนื่อยละครับ 555 จริงๆผมได้อัดคลิปมาด้วย เดี๋ยวขอหาเวลาตัดคลิปสักพักนะ (ยังทำไม่ค่อยเป็น)
เล่นแป๊ปเดียวก็ครบชั่วโมงแล้วครับ เพลินมาก เล่นเสร็จก็กินข้าวแบบอินเดีย ที่สำนักต่อเลย เขาชวนกิน อร่อยดี โดนไปอีกคนละ 250 รูปี (ฮ่าๆๆ)
ก่อนไปเช็คเอ้าท์โรงแรม เจอป้ายที่เขียนว่า “Family special masala tea” ลองก็ลอง เดินไปตามป้าย (ออกจะน่ากลัวสักหน่อยนะ มันลัดเลาะไปตามทาง)
ระหว่างทางเจอเจ้าของพอดี เขาก็พาเราไปบ้านเขาเลย ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่า Malasa ก่อน คำนี้แปลง่ายๆ คือ สมุนไพร นั่นเองครับ ชาตัวนี้จะเป็นชาผสมกับสมุนไพร เป็นชาที่ได้กลิ่นเครื่องเทศอ่อนๆ (คล้ายชาใส่ขิงไรเงี้ย) กินแล้วก็หอมๆสดชื่นดี ถ้วยเล็ก 20 รูปี 10 บาทเองครับ
จากนั้นเราก็ไปเช็คเอ้าท์โรงแรม ฝากกระเป๋าและไปทำภารกิจปล่อยเบลอ พาราณสีกับเวนิสมีความคล้ายกันคือ มีซอยลัดเลาะที่เต็มไปด้วยร้านค้า พวกเราก็เลยเดินชิลไปเรื่อยๆครับ เจอโน้นนี่นั่นก็ถ่ายมา (ซอยไหนดูน่ากลัวก็ไม่เข้านะ แม้จะกลางวันก็เหอะ ต้องระวัง)
โซนนี้เดินมาทางขวาของแม่น้ำคงคาแล้วครับ อย่างที่บอกว่าอินเดียเป็นประเทศที่ วัว หมา คน อยู่ด้วยกันได้ และ วัว ก็เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ด้วยนะ เขาจะไม่ยุ่งกะวัวกันครับ ปล่อยเรี่ยราดกันไป คนก็เดินหลบกันดีๆ
เดินมาเจอร้านแพนเค้กอินเดียครับ เออน่าสนใจ เพื่อนเลยไปสั่งแพนเค้ก + กล้วย + ช็อคโกแลต อร่อยอย่างไม่น่าเชื่อ 30 รูปี เท่านั้นเอง
อีกร้านที่โคตรอร่อย “Lassi” หรือโยเกิร์ตสด… จำชื่อไม่ได้ ร้านนี้ดูสะอาดสะอ้านมากครับ ไม่ใช่ร้าน blue lassi ข้อสังเกต คือ ร้านนี้สะอาดสะอ้าน มีผนังสีเหลืองมีคนขีดเขียนเยอะๆ และรับจองรถไฟ+ตั๋วเครื่องบินด้วย
ผมสั่ง Orange lassi วิธีการทำ เขาจะเอาส้มปลอกเปลือกออก แล้วเอาไปตำรวมกับโยเกริตสด โคตรอร่อยเลย ถ้วยละ 50 รูปี (ไม่มีภาพ close up อาหารขออภัยด้วยลืมถ่าย ><)
ก่อนกลับมีเวลาเหลือนิดหน่อย เลยไปเดินเล่นก่อนเอากระเป๋าเล็กน้อยครับ เก็บตกบรรยากาศเมืองพาราณสีและอินเดียก่อนกลับ เป็นเมืองที่ประทับใจจริงๆ ตามแผนที่วางไว้คือ นั่งตุ๊กตุ๊กไปสนามบิน นั่งรอชิลๆ บินจากเมืองพาราณสีไปเมืองเดลี แล้วนั่งรอในสนามบินอีกไม่กี่ชั่วโมง เช้าได้บินกลับไทยสบายๆ:)
แต่ชีวิตจริงมันไม่สวยอย่างงั้น !!
. ชีวิตเริ่มดราม่าเมื่อ… มีการปิดถนนสายหลัก !! ผมวิ่งวุ่นกับการไปสนามบินทางอื่น จนหาตุ๊กตุ๊กคันหนึ่งได้ว่า ขอให้เขาช่วยขับอ้อมไป ถ้าให้เทียบก็เหมือนจะไปสุวรรณภูมิ แต่ถนนมอเตอร์เวย์ปิด ต้องวิ่งอ้อมไปดอนเมืองผ่านรามอินทราแล้ววนไปสุวรรณภูมิอีกที โคตรอ้อมและทางเลวร้ายมาก ผมยอมควักเงินก้นกระเป๋าให้คนขับไป 1,100 รูปี (จากปกติราคา 600 รูปี) เพื่อให้เขาขับอ้อมไปให้ทัน ดีกว่าตกเครื่องหล่ะวะ!
และแล้วตุ๊กตุ๊กก็พามาถึงสนามบินทันเวลา แทบจะโดดกอดพี่ตุ๊กตุ๊กที่พามาทัน
พวกเรา วิ่ง วิ่ง วิ่ง ไปประตูทางเข้า ตรงนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารยืนอยู่
เจ้าหน้าที่: “โชว์ตั๋วเครื่องบินของคุณ”
ชิล: “นี่ครับ ตั๋ว indigo flight 20:15”
เจ้าหน้าที่: “ไฟล์ทคุณยกเลิกไปแล้วหนิ เราไม่สามารถให้คุณเข้าไปได้”
ตอนนี้คือ ช็อคคคคคมากกกกกกกก สิ่งที่คิดไว้มันเป็นจริง… ตกไฟล์ท นี่แปลว่าตกไฟลท์กลับไทยด้วย โอ้ยยยยย T-T
ผมวิ่งไปที่เคาน์เตอร์ Indigo เจ้าหน้าที่บอกว่าไฟล์ทยกเลิกจริงๆ
“มีการทำงานผิดพลาดของอุปกรณ์การบิน เรามีความจำเป็นต้องยกเลิกเพื่อความปลอดภัย”
“ทางที่ดีสุดที่เราสามารถช่วยเหลือได้คือเลื่อนคุณไปไฟลท์ที่ว่างถัดไป และเราไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้มากกว่านี้”
สรุปว่าผมต้องจำใจบินไฟล์ทถัดไปในวันพรุ่งนี้ เวลา 15:00 นับจากตอนนี้ก็ ก็ … 18 ชั่วโมง !!
. ตอนนี้บรรยากาศปั่นป่วนกว่าเดิม ผมวิ่งไปถามที่เคาน์เตอร์ Jet Airways ว่าไฟล์ทบินไปเมืองเดลีในคืนนี้ผมถูกยกเลิก ดังนั้นพรุ่งนี้ผมตกเครื่องแน่ๆถ้าจะเปลี่ยนเป็นไฟล์ทวันถัดไปจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
. จังหวะนี้ผมลุ้นมาก ปกติตั๋วราคาถูก (non-refundable) มักจะทำไรไม่ได้เลยครับต้องซื้อใหม่สถานเดียว ขณะกำลังรอ ผมลองหาตั๋วบินกลับไทยในวันถัดไป ราคาแสดงขึ้นมาว่า 15,000 บาท !!
. ผมเริ่มโทษตัวเองว่ารู้ทั้งรู้ว่ามีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แต่ทำไมเราไม่ซื้อประกัน Easy 1 ไปเลยวะ ถ้าค่าใช้จ่ายมันออกมา 15,000 จริงๆต้องจ่ายเพิ่มอีกตั้ง 10,000 บาท (ผมซื้อ Easy3 ซึ่งรองรับเคสนี้เพียง 5,000 บาท)
. ยืนรอ 5 นาทีเหมือนยาวนานเป็นชั่วโมง เจ้าหน้าเรียกให้ผมเข้าไปคุยด้านใน และบอกข่าวให้ใจชื้นมากๆเพราะค่าเปลี่ยนประมาณคนละ 2,000 บาทเท่านั้น ( เคลมคืนได้ไม่เกินวงเงิน โอ้โล่งอก…)
. ยังครับยังไม่จบ ผมกะจะนอนในสนามบินจนถึงวันถัดไป แต่พอ 4 ทุ่ม เจ้าหน้าที่ก็มาไล่ เพราะสนามบินพาราณสีนี้ไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมง พวกเราต้องแบกเป้เดินออกจากสนามบินตอน 4 ทุ่มครึ่ง บรรยากาศมืดตึบ โดนโรงแรมฟันไปอีกคืนละ 2,000 รูปี เห้อ… ชีวิตดราม่ามากช่วงนั้น แต่ก็ดีที่ได้นอนเต็มอิ่ม ตื่นมาอีกที 9 โมง เรียกรถไปสนามบินอีกครั้ง ซื้อแคร็กเกอร์ราคาถูกๆมากินกันตายเพราะเงินรูปีเราหมด ตู้กดเงินที่สนามบินพาราณสีก็ใช้การไม่ได้อีก !!
. พวกเรานั่งรอกันจนถึงบ่าย 3 โมง เพื่อบินไปยังสนามบินนิวเดลี ภาพบรรยากาศก่อนขึ้นเครื่องที่พาราณสี ทำเอาดีใจจนน้ำตาแทบไหลจริง ได้กลับไปเดลีแล้ว ไม่ตกเครื่องแล้ว
พอมาถึงสนามบินเดลีก็ต้องรออีก 10 ชั่วโมงครับ นอนมันที่สนามบินนี่แหละ ตอนนี้ที่ที่รู้สึกปลอดภัยสุดก็คือ สนามบิน >< จนถึงวันที่ได้ขึ้นเครื่องกลับไทยคือ ความสุขอันสูงสุด !!
ยังนะครับยังไม่จบ… เรื่องตกเครื่อง สามารถเคลมเงินคืนจากบริษัทประกันการเดินทาง ของเอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย ได้ครับ
เอาหล่ะ หลายคนคงไม่รู้ว่ามันมีประกันการเดินทางด้วย และมันโคตรสำคัญ ผมทำทุกครั้งที่บินไปต่างประเทศครับ ครั้งหนึ่งแค่ 200-500 บาท แต่ทริปนี้เป็นทริปแรกที่ได้ใช้เคลม ได้มาหลายพันเลยหละครับ ถือว่าคืนทุนที่ทำประกันมาตลอดทั้งปีเลย
ประกันเดินทางคือ?
. ประกันเดินทางหลักๆแล้ว จะเป็นเรื่องของ สุขภาพ รวมทั้งอุบัติเหตุ เพราะค่าหาหมอในต่างประเทศแพงมากๆ (เช่น ในยุโรป หรือญี่ปุ่น ถ้าป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ เรียกได้ว่าหมดเนื้อหมดตัวกันเลยครับ หาครั้งละเป็นหมื่น หรือถ้าหนักก็เป็นแสนๆ)
. ซึ่งนอกจากอุบัติเหตุแล้ว เราก็ควรซื้อประกันพวกไฟล์ทดีเลย์ รวมทั้งของหายไปด้วย ครั้งนี้ผมได้ใช้บริการผ่านบริษัทประกันการเดินทาง MSIG Travel Easy ของเอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัยตามที่ได้แจ้งไป ซึ่งผมเลือกซื้อแผน Easy 3 ซึ่งเป็นแผนความคุ้มครองแบบกลางๆ ในกรณีนักเดินทางที่ต้องการความคุ้มครองที่ดีกว่านี้สามารถก็เลือกแบบ Easy 2 หรือดีสุดที่ Easy 1 ได้ครับถ้าเราเลือกแผนคุ้มครองที่ดียิ่งขึ้นก็จะยิ่งรับผลตอบแทนและผลประโยชน์เยอะขึ้นเมื่อมีการเคลม เพื่อนๆสามารถดูตารางแผนประกันภัยการเดินทางแบบง่ายๆตามตารางนี้เลยครับ
ส่วนของอุบัติเหตุผมไม่ได้ใช้เคลมครับ ผมได้เคลมดังนี้ครับ
- เรื่องไฟล์ทดีเลย์ จำนวน 18 ชั่วโมง คิดเป็นเงินจำนวน 4,000 บาท (แผน Easy 3 จะทำการชดเชยต่อการพลาดเที่ยวบิน 20% ของทุนประกัน ทุกๆ 8 ชั่วโมง ดังนั้นแผน Easy 3 จะได้รับการชดเชยทุกๆ 2,000 บาท ต่อ 8 ชั่วโมง)
- การพลาดการต่อเที่ยวบิน ที่จ่ายให้ Jet ไป 2,000 บาทได้คืนตามจริงทั้งหมด
รวมเงินสองจากทั้ง2กรณี ผมได้รับกลับมาจำนวน 6,000 บาท เลยครับเห็นไหมครับคุ้มซะยิ่งกว่าคุ้ม
แล้วเคลมประกันไฟล์ทดีเลย์ยังไง ยากไหม?
ผมขอยึดของทาง เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย เป็นหลักนะครับ เพราะผมเคลมกับที่นี่ ใช้เอกสารดังนี้ครับ
- แบบฟอร์มการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดโดยบริษัท (ดาวน์โหลดในเว็บ)
- สำเนาหนังสือเดินทางของผู้เอาประกันภัย
- ตั๋วเครื่องบินและ BOARDING PASS ทั้งหมด
- จดหมายแจ้งจากสายการบินพาณิชย์นั้นๆ ระบุถึงการล่าช้า โดยลงชื่อผู้ที่มีอำนาจรับผิดชอบต่อการเดินทาง
( ถ้ารู้ตัวว่าทำประกันมาให้ดำเนินเรื่องขอข้อ 4 กับเจ้าหน้าที่ตั้งแต่สนามบินเลยนะครับ หรือถ้าไม่ได้ ไม่ทันจริงๆ ขอเป็น email ยืนยันจากสายการบินก็ได้ครับ )
. หลังจากกลับมาให้รีบโทรไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่แล้วส่งเอกสารไปเคลม รอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารแล้วเราก็จะได้รับเงินคืนเข้าบัญชีมาครับ เห็นไหมครับว่า ประกันการเดินทางที่เราเสียหลักร้อย แต่มันสามารถเคลมกลับมาได้หลายพันจนเฉียดหมื่น หลายคนไม่ให้ความสำคัญกับมัน ก็ถือว่าเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยฝากนักเดินทางมือใหม่ไว้นะครับ ส่วนมือเก๋าคงซื้อกันตลอดอยู่แล้วเนอะ
. เป็นอันว่าจบทริปอินเดีย-โคตรเพลีย ด้วยความระทึกตลอดการเดินทาง 10 วัน โคตรมัน การออกเดินทาง ไม่ว่าจะดีจะร้ายก็ทำให้ชีวิตเรามีเรื่องเล่า ทริปนี้ผมได้เพิ่มประสบการณ์มากมายที่มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ใครสนใจจะตามรอยอินเดียก็ขอให้สนุกและไม่ลืมทำประกันนะครับ
[ Sponsor review ]
Blog แนะนำเคล็ดลับการจองที่พัก อ่านเถอะจะได้ไม่พลาดอีก!
Instragram:@ChillJourneyTHติดตามการเดินทางของชิวตามไปที่ ::
Facebook :Chill Journey :: เที่ยวอย่างชิว
Youtube :ChillJourney