. สวัสดีครับจะเล่าว่าไปอินเดียมาครั้งที่ 2 ทริปนี้เราไม่ได้ลุยบู้เที่ยวหนักแบบเก่า คือเราจะไปตามรอยพระพุทธเจ้า ไหว้พระขอพรอะไรทำนองนี้ เล่าก่อนส่วนตัวนั้นเป็นคนไม่ได้เป็นคนธรรมมะธัมโมนุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดฟังพระฟังธรรมอะไรเลยยยยย เราคิดว่าเป็นคนดีถือศีล5ก็พอแล้ว เลยจะขอเล่าในมุมมองคนทั่วไปที่ไม่ได้เจาะลึกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาแล้วกันนะ
. สังเวชนียสถานทั้งสี่เนี้ยได้เกิดขึ้นโดยคำแนะนำของพระพุทธองค์ที่ได้ตรัสว่า ผู้ใดระลึกถึงพระองค์ พึงจาริกไปยังสังเวชนียสถานทั้งสี่นี้ ดังนั้นจึงทำให้ชาวพุทธส่วนมากตั้งใจไว้ว่าสักครั้งในชีวิตฉันอยากไปสักการะ 4 สังเวชนียสถาน สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และ ปรินิพพาน เพื่อเป็นการแสวงบุญ ทำให้ได้บุญกุศลและความปลาบปลื้มใจมากโข
ภาพรวมของทริป
Day1 : กรุงเทพฯ -> ลัคเนา ( Lucknow )
Day2 : ไปเมืองสาวัตถี
Day3 : ข้ามไปเมืองลุมพินี ประเทศเนปาล
Day4 : ไปยังเมืองกุสินารา และนั่งยาวกลับมายังเมืองลัคเนาบินกลับไทย
Day 1 :
จากสนามบินสุวรรณภูมิผมเดินทางด้วยสายการบินไทยสมายล์บินตรงสู่เมืองลัคเนา ประเทศอินเดีย เป็นเส้นทางบินใหม่ของทางไทยสมายล์ที่เพิ่งเริ่มเมื่อ ธค.2016 ซึ่งเปิดบินอาทิตย์ละ 3 เที่ยวบินและมีข้อมูลตารางการบินตามนี้
WE333 – บินตรงจากกรุงเทพ 22:00 ถึง ลัคเนา 00:22 ของวัดถัดไป (บินทุกวันอังคาร พฤหัส เสาร์)
WE334 – บินตรงจากลัคเนา 01:20 ถึงกรุงเทพ 06:30 (บินทุกวันพุธ ศุกร์ อาทิตย์)
ดูข้อมูลเพิ่มได้ที่เว็บ >> https://www.thaismileair.com/
ที่นั่งของไทยสมายล์จะใช้เครื่องบินขนาดกลาง Airbus A320 จัดเรียง 2 ฝั่งซ้ายขวาเครื่องบินแถวละ 3 ที่นั่ง ขนาด seat pitch มีความกว้างใช้ได้ นั่งไม่อึดอัด
อาหารที่เสริฟจะเป็นสไตล์อาหารอินเดีย ซึ่งมีให้เลือกระหว่างอาหารมังสวิรัติ และ อาหารจำพวกไก่ ผมเลือกแกงกะหรี่ไก่มา รสชาติใช้ได้เครื่องเทศกลางๆไม่มาก ไม่รู้สึกอาหารแขกจนเกินไป
ทริปนี้เป็น Media trip ดังนั้นการเดินทางทั้งหมดจะใช้รถบัสแบบเหมาตลอดการเดินทาง ซึ่งสำหรับเส้นทางแสวงบุญนี้ผมแนะนำให้มากับทัวร์ หรือจะซื้อ local tour ที่นี่จะสะดวกสบายกว่ามาเองเยอะมากๆๆ เพราะการเดินทางส่วนมากจะต้องใช้รถ ถึงแม้อินเดียจะมีรถไฟเชื่อมแทบทุกเมืองแต่ในเนปาลไม่มีรถไฟเชื่อมต้องใช้บริการรถบัสอยู่ดี…
เครื่องบินพาเรามาถึงลัคเนาอย่างปลอดภัย ลงจากเครื่องก็ไปต่อแถวผ่านตม.สนามบินลัคเนาใช้เวลาไม่นาน เสร็จแล้วพวกเราก็ขึ้นรถบัสเข้ามาพักที่โรงแรม Renaissance ในตัวเมืองลัคเนา ถึงก็ค่อนข้างดึกมาก ต่างคนก็รีบอาบน้ำพักผ่อนนอนเอาแรง พรุ่งนี้เราต้องเดินทางไกลกัน
ตื่นมาแล้วไปทานอาหารเช้าชั้น 14 ของโรงแรม renaissance พอเห็นวิวดีงามพระรามเก้าสิบสิบเอ็ดสิบสอง! แล้วตกตะลึง ที่นี่สามารถมองเห็นวิวเมืองลัคเนาได้สวยงามมาก ลองเช็คราคาดูก็ตกห้องละ 3600 หารสองคนก็คนละ 1800 บาทเองกับการนอนโรงแรม 5 ดาว รวมอาหารเช้าชั้นเลิศแบบนี้ไม่แพงเลย >> จองได้ที่นี่
Day 2 :
เมืองลัคเนาถือว่าเป็นเมืองที่เจริญมากๆของอินเดียนับว่าเป็นเมืองหลวงของรัฐอุตรประเทศ ถนนหนทางบ้านเมืองลบภาพอินเดียเดิมๆออกไปได้เลยเมืองเค้าเจริญจริงๆ
จากเมืองลัคเนาเราก็ขึ้นรถมุ่งหน้าสู่เมือง สาวัตถี ระยะทางประมาณ 194 กิโลเมตรใช้เวลา 4 ชั่วโมง
เมืองสาวัตถี
เป็นเมืองหลวงแห่งแคว้นโกศล เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจําพรรษาอยู่ถึง 24 พรรษา(บางแหล่งบอก 25) และเป็นเมืองที่พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาและแสดงธรรมแก่ภิกษุและพุทธบริษัท ให้บรรลุอรหันต์เป็นจํานวนมาก
มาถึงที่แรก วัดเชตวันมหาวิหารหรือสาเหต (SAHET) อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้บริจาคทรัพย์สมบัติในการสร้างมหาวิหารแห่งนี้ ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 80 ไร่ วัดแห่งนี้นับว่าเป็นวัดและที่มั่นสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล และเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุดถึง 19 พรรษา วัดเชตวันมหาวิหารเป็นสถานที่เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามากมาย
ทริปนี้เราได้ “มหาน้อย” (ดร. พระมหาปรีชา กตปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดไทยนิโครธาราม พระธรรมฑูตสายอินเดีย-เนปาล มาช่วยอธิบายและเล่าเรื่องราวทำให้เรากระจ่างในเรื่องราวครั้งพุทธกาลมากขึ้น โดยมหาน้อยจะอธิบายในมุมมองเชิงเหตุและผล ไม่งมงายไม่บอกให้เชื่อแบบจำๆไป ผมคิดว่าที่ผมเข้าใจและอินกับทริปนี้ขึ้นมากก็เพราะได้ท่านมหาน้อยช่วยบรรยายนี่ละมั้ง
ในวัดเชตวันมหาวิหารมีที่สำคัญหลายอย่าง แต่ผมขอเล่าเฉพาะที่สำคัญๆแล้วกันนะ ที่แรกคือ กุฏิของพระสีวลี ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีลาภสักการะมากด้วยกุศลกรรมที่ทำมาแต่อดีต ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทาง ผู้มีลาภมาก ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่มีผู้มาปิดทองที่กุฏิของท่านจำนวนมาก ก็เพื่อเป็นการขอโชคลาภนั่นเอง
ไปต่อที่ กุฏิพระสารีบุตร ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศกว่าพระภิกษุทั้งปวงในด้านสติปัญญา นอกจากนี้ พระสารีบุตรยังมีคุณธรรมในด้านความกตัญญู และการบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่พุทธศาสนาอีกด้วย และรอบๆยังมีกุฏิพระอรหันต์อีกมากมาย เช่น พระสีวลีเถระ พระมหากัสสปะสังฆวุฒาจารย์ องคุลีมาล พระโมคคัลลานะ พระอุบาลี พระอานนท์ เป็นต้น
อีกหนึ่งที่สำคัญ ต้นอานันทโพธิ์ ต้นโพธิ์ซึ่งชาวพุทธนับถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอันดับสองรองจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา ต้นโพธิ์ต้นนี้ถูกปลูกโดยพระอานนท์ในสมัยพุทธกาล ต้นโพธิ์ต้นนี้ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์และยังคงเป็นยืนต้นมาจนปัจจุบัน
ใต้ต้นโพธิ์จะมีชาวพุทธหลากหลายประเทศที่ศรัทธาแรงกล้ามานั่งสมาธิอย่างตั้งใจ
พระอาจารย์บอกว่าเราสามารถเก็บใบของต้นโพธิ์ที่ร่วงหล่นมาบนพื้นแล้ว ไปสักการะได้โดยไม่ผิดแต่อย่างใด
อีกที่ๆสำคัญมากๆคือ พระมูลคันธกุฎี เป็นชื่อเรียกสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ในพุทธประวัติเล่าว่าสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าทุกแห่งจะมีผู้นำของหอมนานาชนิดไม่ว่าจะเป็นไม้หอม ดอกไม้หอม เป็นต้น มาบูชาพระพุทธเจ้ามิได้ขาด โดยประดับไว้ภายในที่ประทับบ้าง วางเรียงรายอยู่โดยรอบบ้าง โดยมุ่งบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกลิ่นหอม ทุกวันนี้ก็ยังเป็นที่ๆชาวพุทธหลั่งไหลมาสักการะอย่างต่อเนื่อง
ไปต่ออีก 2 สถานที่ใกล้ๆกันคือ บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี อนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้นได้พบกับพระพุทธองค์เมื่อครั้งเดินทางไปทํามาค้าขายที่เมืองราชคฤห์ และ ได้เลี้ยงภัตตาหารแก่พระพุทธศาสดาพร้อมได้รับฟังพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาและอริยสัจ 4 จนบรรลุโสดาปัตติผล ท่านได้อาราธนาพระพุทธองค์ไปประทับที่เมืองสาวัตถี โดยได้ทําการซื้อพื้นที่สวนของเจ้าเชตมาสร้างวัดเชตวันมหาวิหาร อันเป็นที่มาของชื่อวัดและทําให้มหาเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี
ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวหลงเหลือเพียง อาคารก่ออิฐสูงเท่าตึก 2 ชั้นมีบันไดขึ้นไปถึงยอดตรงกลางที่เป็นห้องโถงใหญ่สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่เก็บทรัพย์สมบัติของมหาเศรษฐีในการสร้างวัดเชตวันมหาวิหาร
บ้านบิดาขององคุลีมาล ตรงข้ามกันบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี บ้านบิดาขององคุลีมาลนั้น มีลักษณะเป็นเนินสูง เป็นอาคารอิฐก่อ มีโพรงเป็นช่องทางหลักฐานที่สันนิษฐานนั้นว่าน่าจะเป็นสถูปมากกว่าที่พักอาศัย และสามารถเชื่อมเรื่องราวของสถานที่ที่สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่พระสาวกองค์หนึ่งที่เคยเข่นฆ่าผู้คนถึง 999 ชีวิตตัดนิ้วมือมาร้อยเป็นมาลัยคล้องคอจนกระทั่งมาพบพระพุทธองค์ทรงเทศน์โปรดจนบรรลุเป็นพระอรหันต์
สถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์สถูป นั่งรถต่อมาอีกสัก 5 กิโลเมตรก็ถึงสถานที่สำคัญเป็นที่ๆพระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์ 2 สิ่งคือการปราบทิฏฐิพวกเดียรถีย์ภายใต้ต้นมะม่วงคัณฑามพฤกษ์ และการเสด็จขึ้นไปสวรรค์ชั้นที่ 2 หรือดาวดึงส์ เพื่อโปรดพระนางมายาเทวี พระพุทธมารดาของพระองค์ (ด้านหลังพระอาจารย์น้อยเป็นชาวไทยคณะอื่นเค้ามานั่งสมาธิกันจริงจังเลยนะ)
ค่ำนั้นเป็นวัน 2 เมษายน ซึ่งตรงกับวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พอดีที่วัดไทยเชตวันมหาวิหารจึงมีการจุดเทียนชัยถวายให้กับท่าน
Day 3 :
ออกแต่เช้านั่งรถยาวเพื่อไปยังเมืองลุมพินี ประเทศเนปาล ก่อนถึงชายแดนจะเจอกับ วัดไทยนวราชรัตนาราม 960 สถานที่ปลดทุกข์เห็นสุขทันตา วัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาลาพักข้างทางของผู้แสวงบุญ ให้เข้าห้องน้ำห้องท่าปลดทุกข์ (ห้องน้ำดีมากกก ) และเป็นที่จัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์ระหว่างเดินทาง เป็นศาลาเอนกประสงค์รับประทานอาหาร ที่พักดื่มน้ำชา กาแฟ คลินิกปฐมพยาบาล อะไรทำนองนี้
นอกจากจะเป็นที่พักเข้าห้องน้ำชั้นเลิศแล้ว ยังมีของว่างเป็นโรตีทอดราดนมข้น อร่อยและอิ่มท้อง อร่อยแบบหยุดไม่ได้ นับไปนับมากินไป 5 ชิ้น !
ใครสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ยอดฮิตของอินเดีย เช่น ยาพูดินฮาร่า หรือ Himalaya ที่หน้าประตูวัดได้เลย ราคาตามข้างกล่องเลยไม่ต้องไปหาซื้อที่ไหนไกล
จากวัดไปเพียงไม่ไกลก็จะถึงด่านชายแดนระหว่าง อินเดีย-เนปาล แล้วซึ่งตรงนี้มีการค้าขายกันคึกคักและรถที่ผ่านตม.ก็ติดมากๆ มากจนสามารถลงมาเดินเล่นถ่ายรูปซื้อของได้เลย
พอข้ามแดนมาฝั่งเนปาลได้แล้วเราแวะทานอาหารกลางวันเปลี่ยนเป็นรถขนาดเล็กไปต่อที่สวนลุมพินีวันเพื่อสักการะวิหารมายาเทวี สถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หนึ่งในสังเวชนียสถานทั้งสี่
ภายในอาคารจะมีรูปรอยเท้าของเจ้าชายสิทธัตถะ รวมทั้งประวัติแสดงการขุดค้นเป็นมิวเซียมขนาดย่อม (สามารถเข้าชมได้แต่ห้ามถ่ายรูป)
เสาอโศก นั้นถูกฝังดินไว้ด้านข้างของวิหาร โดยหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วพระเจ้าอโศกมหาราชได้โปรดให้สร้างเสาหินขนาดใหญ่มาปักไว้และจารึกเป็นอักษรพราหมณ์ระบุว่าที่แห่งนี้คือสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ
ประมาณช่วงเย็นเราก็ไปวัดไทยลุมพินีกันต่อ อยู่ใกล้ๆกันกับวิหารเอง นั่งรถแค่ 5 นาทีก็ถึงแล้ว วัดที่นี่สวยมาก โดยวัดนี้เป็นวัดไทยวัดแรกในเนปาล สร้างเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี
Day4 :
วันสุดท้ายของการเดินทาง พวกเราออกเดินทางตั้งแต่ 6 โมงเช้าเพื่อเลี่ยงการติดขัดในการข้ามแดนกลับอินเดีย และอีกทั้งเราต้องเดินทางกันยาวเลยวันนี้ โดยจากเมืองลุมพินีผ่านด่านแล้วมุ่งหน้าตรงไปยังเมืองกุสินารา เมืองที่มีความสำคัญเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานและเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงของพระพุทธองค์
โดยเมื่อมาถึงเมืองกุสินาราก็แวะไหว้พระที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์กันก่อน วัดนี้ถือว่าเป็นวัดไทยที่สวยและใหญ่ที่สุดในวัดไทยที่ผ่านมาเลยนะ มีโบสถ์ มีสวนที่สวยงามมาก เราเยี่ยมชมและไหว้ที่วัดไทยและไปทานข้าวโรงแรมข้างๆเติมพลังก่อนไปที่ป่าสาละ
อิ่มท้องแล้วไปต่อที่ สาลวโนทยาน หรือป่าสาละ ที่ตั้งปรินิพพานสถูป
ภายในอาคารจะมีรูปพระพุทธรูปปางปรินิพพาน ณ วิหารปรินิพพาน เป็นพระพุทธรูปที่เป็นศิลปะในสมัยคุปตะ ขนาดความยาวประมาณ 7 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร ด้วยศรัทธาแรงกล้าจากทุกชาติจึงจะได้ยินเสียงสวดมน หลายภาษาตลอดเวลาในอาคารแห่งนี้ (พระอาจารย์น้อยบอกถ้ามาช่วย high นี่พูดไม่ได้ยินเลยนะเสียงดังมากๆ)
ใกล้ๆกันห่างไปแค่ประมาณ 1 กิโลเมตรคือ มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ทําพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้านั่นเอง ตอนนี้เหลือเพียงฐานด้านล่างเลยเป็นรูปทรงดังภาพ
เสร็จภารกิจทั้งหลายแล้วได้เคารพครบทั้ง 2 สังเวชนียสถานตามที่ตั้งใจ พวกเราก็นั่งรถบัสยิงตรงยาวกลับไปยังเมืองลัคเนา ค่ำๆแวะเข้าพักอาบน้ำอาบท่าที่โรงแรมสักนิด แล้วไปสนามบินเพื่อกลับเมืองไทย 🙂
สรุป
สำหรับทริปนี้ค่อนข้างเกินความคาดหวังนะ ตอนแรกคิดว่าอินเดียจะต้องสกปรกต้องลำบากต้องรบกับแขก แต่เปล่าเลยทริปนี้เรารู้สึกสบายใจมาก ได้รู้ว่าอินเดียถ้ามากับทัวร์แล้วไม่ลำบากลำบนเลยแม้แต่นิด สบายมากทั้งอาหารทั้งโรงแรมทั้งห้องน้ำ โดยเฉพาะเส้นทางแสวงบุญนี่มีวัดไทยที่ตั้งใกล้สังเวชนียสถานทั้งหลายก็พร้อมต้อนรับผู้ชาวไทยเป็นอย่างดี อยากให้ลองเปิดใจให้กับอินเดียดูนะ ถ้าใครคิดว่าครั้งหนึ่งจะต้องไปสังเวชฯสักครั้งผมว่าตอนนี้ทุกอย่างเพรียบพร้อมสะดวกสบายพอที่จะไปได้แล้วล่ะ