“ตอนนี้อยู่ อุซเบกิสถาน” พอบอกพ่อแม่พี่น้องเพื่อนต้องมีคำถามตามมาว่า
“ห้ะ….มันอยู่ตรงไหนของโลกอะแก!”
มันอยู่เอเชียกลาง เหนืออินเดีย ใกล้กับ… โอ้ย ไปเปิด Google map ดูเถอะ
ประเทศ อุซเบกิสถาน มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมากๆ วัฒนธรรมอันหลากหลายได้หลั่งไหลเข้ามายังดินแดนแถบนี้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายพันปีมาแล้ว ที่นี่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรมองโกล ได้รับเอาวัฒนธรรมฮินดูและอิสลาม ตลอดจนพุทธศาสนาจากอินเดีย และท้ายสุดยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโซเวียต อุซเบกิสถานจึงเป็นดินแดนที่ร่ำรวยมากด้วยวัฒนธรรม สิ่งก่อสร้างสวยงามงานดีงานละเอียดสุด และที่สำคัญเลยนะแต่ละสถานที่ของเค้า ใหญ่มากกกกกกก ใหญ่จนทึ่งว่านี่สร้างมาเป็นพันสองพันปีจริงดิ !!
DAY1 : Bangkok – Tashkent
จากกรุงเทพพวกเราเดินทางสู่ประเทศ อุซเบกิสถาน (UZBEKISTAN) ด้วยเที่ยวบินตรงของสายการบิน Uzbekistan Airways จากสนามบินสุวรรณภูมิ สู่สนามบินทาชเค้นท์ เมืองหลวงใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง โดยตอนนี้เค้ามีสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน ในวันเสาร์ (รอบดึก) และวันอังคาร (รอบเช้า) เพราะฉะนั้นทริปที่ลงตัวก็จะอยู่ที่ประมาณ 6-7 วันก็จะเที่ยวได้ครบและตรงกับตารางบินของสายการบินนี้พอดี
สามารถดูตารางบินและสำรองที่นั่งได้ที่ www.uzairways.com
วีซ่า?
อุซเบกิสถาน เป็นประเทศที่คนไทยต้องขอวีซ่า แต่สามารถยื่นได้ง่ายๆและมีสถานทูตในประเทศไทยเราสามารถไปขอด้วยตัวเอง โดยเขียนใบคำร้องและดาวน์โหลดแบบฟอร์มจากเว็บไซต์ (evisa.mfa.uz/evisa_en/) พร้อมรูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว ยื่นเอกสารที่สถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ประจำประเทศไทย หรือเอาง่ายๆก็ฝากบริษัท agency / บริษัททัวร์ไปได้เลยครับโดยที่เราไม่ต้องไปแสดงตัวด้วยตัวเอง
สำหรับรีวิวสั้นๆสำหรับเครื่องของ Uzbekistan Airways คือนั่งสบายในระดับหนึ่งเป็นสายการบิน Full service ที่เสริฟอาหารและน้ำดื่มครบ แต่ด้วยบริการแล้วอาจจะไม่ได้เลิศอะไรนัก เรียกว่า self service ก็จะดีกว่า อยากได้ น้ำอะไรก็เดินไปหยิบเองเถอะชีวิตจะง่าย 555 แต่เครื่องก็นั่งสบายโอเคตามมาตรฐาน
จะเที่ยวยังไง?
เอาจริงๆก็สามารถเที่ยวเองได้นะแต่ก็อาจจะวุ่นวายปวดหัวกับการเดินทางนิดหนึ่ง หรือจะจ้าง Local tour ก็ได้ เราใช้บริการของบริษัท Dolores Travel Travel Agency ครับ https://dolorestravel.com/en
DAY2 : Tashkent
Tashkent เป็นเมืองหลวงที่หลายคนมองว่าไม่มีอะไร แม้แต่คนอุซเบฯที่เจอเราที่ร้านข้าวยังถามว่า …. พวกคุณมาทำอะไรกันที่นี่! มันดูจะเป็นเมืองทำงานเมืองหลวงมากกว่าจะเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ใช่ว่าจะไม่ไม่มีที่เที่ยวเราว่ามีดีพอตัวเลยล่ะ อย่างน้อยก็ควรเผื่อเวลาเที่ยวสัก 1 วันแล้วกัน
สถานที่แรกที่ไกด์พาเราไปคือ Independence Square ที่นี่ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองของทาซเค้นท์เริ่มมีการขึ้นในปี ค.ศ.1991 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของอุซเบกิสถาน เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ใครมา ทาซเค้นท์ ก็ต้องมาเยือนสักครั้ง มาดูสถาปัตยกรรมที่ใหญ่โต และถ่ายรูป ที่นี่ยังมี Happy Mother Monument ที่เป็นรูปปั้นแกะสลักที่ได้แสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของแม่ที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนได้กอดลูกที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป ได้ฟังเรื่องราวและแนวคิดก็ยิ่งอินไปอี้กกกก
Happy Mother Monument
เราถ่ายรูปกันสักพักก็ไปต่อที่ landmark สำคัญคือ โรงเรียนสอนศาสนาคูเคลดาสห์ (Kukeldash Madrassah) ชื่อก็บอกเน้อะว่าเป็นโรงเรียนสอนสถานศาสนา ที่นี่ยิ่งใหญ่มากและสวยมากกกกกก เค้าได้รับการยอมรับว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคของศตวรรษที่ 16 เลยด้วย!
ข้างโรงเรียนสอนศาสนาก็จะเป็น สุเหร่าจูมา (Juma Mosque) สุเหร่าแห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1451 โดยเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของท่าน Sheikh Ubaydulla Khoja Akhror ผู้เป็นมหาบุรุษแห่งลัทธิซูฟีย์ที่สืบสกุลมาจากผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลาม เราก็ได้ไปสำรวจถ่ายรูปกันมาเล็กน้อยตอนภายนอกเพราะตรงกับช่วงเวลาละหมาดของที่นั่นพอดี บอกตรงว่าตอนนี้ทึ่งกับ Mosque ที่อุซเบฯ มากกกกก แต่ละที่งดงามอลังการมากจริงๆ
เดินต่อถึงกันหมดใกล้กันนั้นจะเป็นตลาดอันดับหนึ่งของ Tashkent ชื่อว่า Chorsu Bazzar ให้นึกภาพตามว่าเหมือนเราเดินเข้าไปจตุจักรแล้วกัน มีของขายเยอะมากกกกกกก ไกด์กิตติมศักดิ์ (ที่เรารู้ทีหลังว่าเค้าไม่ใช่ไกด์มืออาชีพ แต่เป็นคนทำ PR ของการท่องเที่ยวอุซเบฯ 555 ) บอกพวกเราว่าของใช้ต่างๆที่ไม่ใช่ของพื้นเมืองคือนำเข้ามาจากจีนทั้งนั้นแหละ นั่นทำให้สิ่งของสองข้างทางไม่ได้น่าสนใจสำหรับเรานัก ถ้าเทียบกับผู้คนรอบข้าง เราได้ดูผู้คนอุซเบฯจับจ่ายใช้สอย ดูเค้าใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ถึงแม้จะอยู่เมืองหลวงแต่วุ่นวายไม่ได้ครึ่งของหัวเมืองใหญ่บ้านเราเลย
สินค้าดังของอุซเบฯก็จะเป็นพวกเครื่องเซรามิกต่างๆที่มีลวดลายสวยงามมากในราคาที่ไม่แพงอยู่ที่ว่าจะขนกลับกันไหวแค่ไหน
อันนี้คืออาหารประจำชาติอีกหนึ่งอย่างที่ชื่อว่า PLOV เป็นแนวข้าวผัดกับเครื่องเทศและเนื้อที่ตุ๋นจนเปื่อย เป็นอาหารที่หน้าตาดีมาก แต่จากที่เราลองชิมคือ ยอมจ้า! ไม่ใช่ยอมเครื่องเทศหรือรสชาติอะไรทั้งนั้นแต่ยอมความ “มัน” ที่โหดเกินไปกว่าคนไทยอย่างเราจะรับไหว สรุปว่าอร่อยเค้าไม่อร่อยเรา 5555
เมื่อเดินเข้าไปถึงจุดกึ่งกลางจะพบกับตลาด Chorsu Bazaar ของแท้ของดั่งเดิมตั้งอยู่ในอาคารสวยหรู ที่ดูยังไงมันต้องไม่ใช่ตลาดสดค้าเนื้อแบบที่เป็นแน่ๆ! ด้านนอกสวยแล้วด้านในยิ่งสวย และสะอาดสะอ้านมากกกกกกกกกกกกกกกก นี่ตลาดสดจริงๆไม่ได้ตาฝาดใช่ไหม !
เจอน้องในตลาด เด็กที่นี่น่ารักมาก สู้กล้องทุกคน ! ขอน้องถ่ายด้วยน้องก็ให้ถ่าย ร้ากกกกกกกก
ไปต่อที่โบสถ์คริสต์ที่สวยเด็ดจนตาค้าง! The holy assumption cathedral โบสถ์ออร์โธดอกซ์รัสเซียสร้างขึ้นในปี 1871 ตัวอาคารเป็นสีฟ้าและยอดโดมเป็นสีทอง สวยมากกกกกศิลปะแบบรัสเซียแบบโซเวียดเลย สวยเหมือนโบสถ์ดังๆของรัสเซียแบบสู้ได้ อันนี้ดีต้องมากันนะทุกคน แต่มีข้อแม้นิดหนึ่ง…. ด้านข้างในโบสถ์ห้ามถ่ายรูปด้วยกล้องใหญ่ แต่สามารถใช้มือถือถ่ายได้ (อันนี้ก็งงกับเค้านิดหนึ่ง ก็ทำตามเค้าไปละกัน)
ถ้าไปรัสเซียแล้วต้องไปดูความอลังของรถไฟใต้ดิน ที่ Tashkent ก็ใช่! อลังการไม่แพ้กัน แถมยังมีความคล้ายที่มอสโคว์มากๆอีกด้วยนะ
Amir Timur Monument ไม่ว่าจะไปที่ไหนในประเทศก็จะได้ยินชื่อท่านนนนน ท่านเป็นผู้พิชิตดินแดนส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันตกและเอเชียกลาง จักรพรรดิ์อามีร์ ตีมูร์ ผู้สามารถพิชิต 27 ดินแดนตั้งแต่เมดิเตอร์เรเนียนถึงอินเดีย ทำให้ประเทศยิ่งใหญ่มากในสมัยนั้น
อาหารของที่นี่ทุกมื้อจะต้องมีขนมปังรูปพระอาทิตย์ที่เค้าเรียกว่า non, patir หรือ lepeshka ถ้าให้เราเทียบก็คงเหมือนคนไทยกินข้าวกับทุกสิ่งอย่าง เช่นกันคนอุซเบฯก็กินเจ้าแป้งพระอาทิตย์นี้กับทุกสิ่งอย่างและอาหารทุกมื้อของเค้าเช่นกัน! อาหารที่นี่รสชาติดี ต้องบอกว่าดีกว่าที่คาดไว้มากกกก มีกลิ่นเครื่องเทศน้อยมากกก แต่บอกตรงๆว่าในวันแรกเราก็ Enjoy กับอาหารโดยเฉพาะชีสและเนื้อวัว ที่คุณภาพเลิศเลอสุดๆ แต่พอวันหลังๆก็ต้องขอบอกว่า บัยยยยยยยยยย แม้แต่กลิ่นเครื่องเทศน้อยนิดเราก็ไม่ไหวจนต้องโหยหาหยิบมาม่ารสแซ่บจากประเทศไทยเอามากินบ้าง 5555555
สาวกเนื้อต้องกรีดร้อง เนื้อที่นี่คือเด็ดมากกกกกกกกกกกกกกกกก
DAY3-4 : Samarkand
จาก Tashkent เราใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงกว่าในการเดินทางสู่เมือง Samarkand เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศนี้เป็นเมืองที่เจริญมากกกกกกก เจริญไม่แพ้เมืองหลวงอย่าง Tashkent ซามาคานด์มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันยาวนานและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียกลาง ครั้งหนึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอเล็กซานเดอร์มหาราช และผู้ที่มีความสำคัญมากที่สุดในเมืองนี้จะเป็น อามีร์ ตีมูร์ หนึ่งในจักรพรรดิมองโกล-เติร์ก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นอะไรๆก็เกี่ยวกับท่านไปทั้งนั้น เราใช้เวลาเที่ยวอยู่ที่นี่อยู่ประมาณวันครึ่งในการตามเก็บ landmark สำคัญ ส่วนตัวนะเมืองทั้งหมดของทริปนี้ชิวชอบเมืองนี้ที่สุดเลยล่ะ เพราะด้วยความลงตัวของทั้งความสวยงามของสถานที่ และความเจริญที่ทำให้เราทึ่งล่ะมั้ง
Samarkand ได้รับสมญานามว่าเป็นเมืองแห่งโดมสีฟ้า (The City of Blue Domes) เดียวเพื่อนๆดูจากภาพก็จะเข้าใจ โดมฟ้าไปท้างงงงเมืองจริงๆ ในประวัติศาสตร์ถ้านับย้อนหลังไปหลายร้อยปี และยังได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งนิยาย 1001 อาหรับราตรี (1001 Arabian Nights) และได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกใน ปีค.ศ. 2001 อีกด้วย
สุสานอิหม่ามบุคอรี (Imam Bukhari Memoral Complex)
ห่างออกไปจากตัวเมือง Samarkand 25 กิโลเมตร ทันทีที่รถของเราจอดลง ผมมองไปไกลๆก็เจอกับความ อึ้ง! แม้จะอยู่ประเทศนี้มาหลายวันก็ยังตะลึงทุกครั้งเวลาเจอสถานที่แห่งใหม่ ทุกที่ล้วนยิ่งใหญ่และปราณีตมากๆจนทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าคนโบราณเค้าต้องใช้เวลาและความพยายามมากขนาดไหนในการบรรจงสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา
ที่นี่คือสุสานของท่านอิหม่ามบุคอรี ตามประวัติบอกว่าพ่อของท่านถือว่าเป็นคนแรกที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ท่านเป็นศาสนศาสตร์ชื่อดังและเป็นผู้เขียนหนังสือที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับสองของชาวมุสลิมรองจากอัลกุรอานที่ชื่อว่า “Al-Jomiy al-Saheeh”
บรรยากาศภายในร่มรื่นและงดงาม
ลวดลายที่ละเอียดงดงามทำให้เราหยุดดูแบบอันโน้นก็ดีอันนี้ก็ใช่ แบบไม่เบื่อเลยล่ะ
สุสานอามีร์ ตีมูร์ (Guri Amir)
ที่นี่เป็น สุสานของท่านอามีร์ ตีมูร์ แรกเริ่มเดิมทีได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่ฝังศพของสุลต่าน มูฮัมหมัด (Sultan Muhammad) ซึ่งเป็นหลานรักที่เสียชีวิตในเปอร์เซีย สร้างขึ้นโดย ข่าน ตีมูร์ในปี ค.ศ. 1403 แต่ก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 1380 อาเมียร์ ตีมูร์ได้โปรดให้สร้างที่ฝังศพของพระองค์เตรียมไว้ก่อนที่บ้านเกิด คือ เมืองชาห์ริซาบซ์ แต่ในระหว่างที่ได้
ยกทัพไปบุกจีน ได้สิ้นพระชนม์ เมื่อปี ค.ศ. 1405 จึงได้นำพระศพเดินทางกลับมาภายใน 24 ชม. เพื่อฝังตามหลักศาสนา แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทันเวลา จึงได้ฝังไว้ที่นี่แทน
ถ้าเพื่อนๆเป็นคนชอบศิลปะ ชอบความละเอียดของการก่อสร้าง เราว่าต้องตกหลุมรักประเทศนี้แน่ๆ แต่ละอันบรรจงสร้างมากกกก งานดีงานละเอียดสุด
สุสานชาคี-ซินดา (Shakhi-Zinda necropolis) ~ Avenue of dead
ที่นี่เราขอยกให้เป็นสถานที่ๆสวยสุดในทริปนี้ ! เราชอบความสีฟ้าน้ำทะเลประดับประดาทั้งสองข้างทาง จริงๆจะบอกก่อนว่าของจริงสวยมากกกกกก สวยกว่าในรูปที่เราถ่ายมาอีกนะ ที่นี่ถูกเรียกว่าเป็น Avenue of dead คือคนสร้างเค้าตั้งใจให้เป็นสถานที่ฝังศพของคนดังๆทั้งหลายของประเทศ ที่นี่ประกอบไปด้วยสุสานของคนในครอบครัวอามีร์ ตีมูร์ทั้งหมด จำนวนถึง 20 อาคาร !
ก่อนจะเข้าถึงด้านบนก็จะต้องเดินบันไดขึ้นเขากันให้พอให้หัวใจสูบฉีดเล็กน้อย “อัมบัส” คนนำเที่ยวจากการท่องเที่ยวอุซเบฯ บอกกับพวกเราว่า ที่นี่มีความเชื่อว่า ให้เราลองอธิษฐานแล้วให้นับจำนวนขั้นของบันไดตอนขาขึ้นไว้ พอขากลับมาถ้านับได้เท่าเดิมความเชื่อนั้นจะเป็นจริง
.
.
.
แต่เรานั้นไม่ใช่ไม่เชื่อนะ แต่คงเป็นเพราะว่าเราเหนื่อยกับการเดินขึ้นบันไดละมั้ง พอนับได้สัก 20 ขั้นเราก็หันมาถ่ายรูปแล้วเราก็ลืมว่าเรานับถึงเท่าไหรแล้ววะ เอ้า!!! เอาเป็นว่าเราขอให้เป็นจริงเลยแล้วกันโดยไม่นับ แฮ่!
ทางเดินสองข้างทางที่ค่อนข้างแคบ มีความรถติดเล็กน้อย ไม่รู้ว่าแคบหรือทุกคนต่างตะลึงในความงดงามก็เลยหยุดดูหยุดถ่ายรูปไม่กันทั้งนั้น
บรรยากาศตอนแสงเย็นตกกระทบ มันสวยมากจนบรรยายไม่ถูกเลยล่ะ
จัตุรัสเรกิสถาน ( Regitan)
ที่นี่น่าจะเป็นแลนด์มาร์คอันดับหนึ่งของอุซเบเลยก็ว่าได้ จากภาพโปรโมททั้งการท่องเที่ยว ทั้งโปรแกรมทัวร์ ทั้งอะไรทุกอย่างก็มักจะเป็นภาพของ จัตุรัสเรกิสถาน แทบทั้งหมดเมื่อคืนอัลบัส พาเราไปดูตอนเค้าเปิดไฟช่วงกลางคืน โมเม้นต์ที่จากมืดๆแล้ว พรึ้บ! ไฟทั้งจตุรัสส่องสว่างขึ้นมาฉายให้เป็นความงดงามของทุกอาคารมันเป็นอะไรที่ สวยมากทึ่งมาก!
เรจีสถานประกอบไปด้วยโรงเรียนสอนศาสนา หรือ Madrassah (อ่านว่า มัดดารอซะฮ์) ขนาดใหญ่สามแห่ง ล้อมรอบสามด้านของจตุรัสนี้ ด้านซ้ายมือนั้นเก่าแก่ที่สุดคือ Ulugh Beg Madrassah สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 15 รองมาคือด้านขวามือ Sher-Dor Madrasah และตรงกลาง Tilya-Kori Madrasah ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17
เมื่อคืนเราไปเที่ยวมาแล้ว วันนี้เราขอมาซ้ำตอนกลางวันอีกรอบเพื่อเก็บเกี่ยวรายละเอียด หรือเอาจริงๆคือพวกเราชอบถ่ายภาพตอนกลางวันที่มีแสงมีเงา ก็เลยขอให้เค้าพามาอีกรอบคงจะเป็นเรื่องจริงมากกว่า 55555
จากภาพด้านบนที่มีพี่ในทริปเราเป็นนายแบบ ที่นี่ประกอบไปด้วย 3 อาคารที่ใหญ่โตมโหราฬ ซึ่งทั้งสามหลังเป็นโรงเรียนสอนศาสนาทั้งหมดเลย
-ฝั่งซ้าย – Ulugbek Madrassah
– ฝั่งขวา – Sher Dor Madrassah
– ตรงกลาง Tillya-Kori Madrassah
สำหรับใครที่เห็นรูปใน IG ของสถานที่นี้ ว่าทำไมมีคนโผล่หัวออกมาถ่ายรูปมุมสูงได้แล้วอยากตามรอย ทางอาคารด้านซ้าย เราสามารถปีนขึ้นไปยังหอคอยโผล่หัวออกมาชมวิวและถ่ายรูปมุมสูงได้ โดยจ่ายค่าผ่านประตูคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณคนละ 120 บาท ( ถ้าจำไม่ผิด ) ซึ่งส่วนตัวว่าก็ไม่มีอะไรมากไม่ได้พีคมากอะไรขนาดนั้นนะ แถมบันไดทางขึ้นยังแคบและชันมากกกกกกกกกกกกก ทำเอาขาผมเกร็งไปอีกสามวัน พอข้ามเมืองใหม่เค้าชวนปีนอีกพวกเราก็เข็ดขยาดดด ขาสั่นพั่บๆๆๆๆไม่ไหวแล้ว
มัสยิดบีบีคานิม Bibi-khanym Mosque
เดินต่อจาก จตุรัสเรจีสถาน มาประมาณ 1 กิโลเมตรชมวิวสองข้างทางดูผู้คนไปเรื่อย เราก็มาถึงอีกหนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญของเมือง คือ มัสยิดบีบีคานิม Bibi-khanym Mosque ถ้าให้เทียบความอลังการงานสร้างที่นี่ต้องชนะเลิศได้เหรียญทองอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมองไกลมองใกล้ ก็ยิ่งใหญ่มากซะจนต้องแหงนคอมอง ขนาดใส่เลนส์ไวด์ยังต้องถอยห่างเพื่อจะเก็บภาพทั้งหมดของอาคาร แต่ด้วยความที่เราเห็นแบบนี้มาหลายที่ โดยเฉพาะที่ Shakhi-Zinda necropolis และ Regitan ที่งดงามสุดๆล่ะมั้งทำให้เราไม่ได้รู้สึกอินกับที่นี่มากนัก
เดินต่อจากมัสยิด เราจะเจอสุสานประธานาธิบดีคนแรกของอุซเบกิสถาน ที่เพิ่งสร้างขึ้นไม่กี่ปีมานี้เอง เป็นสถานที่ๆสวยงามและเป็นด้านบนยังเป็นจุดชมวิวที่ถ่ายกลับมาเห็นภาพมุมกว้างของมัสยิดบีบีคานิม อีกด้วย
Road to Bukhara
จากเมือง Samarkan ไปยัง Bukhara เมืองถัดไปของเราใช้เวลาเดินทางถึง 6 ชั่วโมง นั่นทำให้มื้อกลางวันของเราตั้งใจจะทานแบบ quick lunch รีบกินรีบไป แต่สุดท้ายด้วยความ slowlife ของร้านอาหารก็ทำให้มื้อกลางวันเรายืดออกเป็น 2 ชั่วโมง กินอิ่มครบทั้ง อาหารเรียกน้ำย่อย อาหารหลัก ของหวาน รวมทั้งกาแฟ ! ที่เรารู้ว่าโอ้ยยยยย บางทีก็ต้องการความเร่งรีบให้กับชีวิตบ้างไหมทุกคนนน
โอเค แต่เพราะนั่นก็ทำให้เราได้เจอเรื่องราวดีๆแสงสวยๆระหว่างทาง พวกเราบอกอัลบัส ถามว่านี่เค้าทำอะไรกันเหรอ(ข้างทาง) อัลบัสบอกว่า เค้ากำลังเก็บฝ้าย ( cotton ) สนใจอยากลงไปดูไหม “ไปปปปปปปปปป” ทุกคนในรถตอบแทบจะพร้อมเพียงกัน ลุงคนขับ(ที่ตอนหลังเรารู้ว่าเค้าควรเรียกว่า คุณอา เพราะไม่ได้แก่แบบหน้าที่เราเห็น ) จอดให้เราลงไปพูดคุย ถ่ายรูป ดูวิธีการเก็บฝ้าย ที่แม้เราจะพูดกันไม่เข้าใจ แต่ทั้งเราและชาวอุซเบฯก็เข้าใจกันด้วยภาษากาย ทุกคนน่ารักมากๆๆ เรารับรู้ได้ถึงความอบอุ่นของคนประเทศนี้
เราทำท่าขอถ่ายรูปคู่กับคุณน้า เธอมีท่าทางที่เขินอายแต่ก็ยินยอมให้ถ่ายรูปด้วยโดยดี 🙂
เรามาถึงเมือง Bukhara ตอนตะวันลับขอบฟ้าไปเรียบร้อยแล้ว มุ่งหน้าเข้าสู่โรงแรมเข้านอนพักร่าง เตรียมลุยเที่ยวต่อพรุ่งนี้ 🙂
สำหรับ PART แรกของการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ UZBEKISTAN ของเราทั้ง 4 วัน 2 เมืองก็ฝากไว้เท่านี้ สำหรับบล็อกหน้าเราจะพาทุกคนไปเก็บตกกับอีก 2 เมืองมรดกโลกที่สวยงามไม่แพ้กันอย่าง Bukhara และ Khiva อย่าลืมอ่านต่อด้วยนะ!
รีวิวอุซเบกิสถาน Part II ชมเมืองมรดกโลกที่ Bukhara และ Khiva สวยจัดจ้านในย่านนี้!